ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี – วัฒนธรรมถิ่นคนกะเหรี่ยง สืบสานกันมาหลายชั่วอายุคน!!
25 มี.ค. 2567

คตินิยมในการแห่ปราสาทในงานศพพระสงฆ์ ของไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรำตงของชาวบ้านกองม่องทะ และชาวบ้านเกาะสะเดิ่ง ต่างพากันร่ายรำด้วยท่าทีที่อ่อนช้อย พร้อมร้องเพลงที่เป็นภาษากะเหรี่ยง ซึ่งเนื้อหาของเพลงพรรณนาถึงการอาลัยพระขิงเจ กิตติภาโร พระวัดเกาะสะเดิ่ง อายุ 87 ปี พรรษา 43 ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ประกอบกับการบรรเลงเครื่องดนตรีของวงมโหรีปี่พาทย์ ประจำหมู่บ้าน ท่ามกลางสายตาผู้ที่มาร่วมงานสลายร่างพระขิงเจ กิตติภาโร ที่เดินทางมาจากหลายหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

ก่อนจะต่อด้วยการรำแห่ปราสาทของคณะชาวบ้านบ้านใหม่พัฒนา ที่มีทั้งผู้รำทั้งหญิงและชายรวมกว่า 70 ชีวิต ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ซึ่งจะมีการแสดงให้ดูเฉพาะในงานแห่ปราสาทพระสงฆ์ ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยครั้งนัก การร่ายรำของผู้รำฝ่ายหญิง ขณะที่ผู้รำที่เป็นผู้ชายจะช่วยกันแบกปราสาทบนบ่า  ปราสาทยอด 7 ชั้น ที่สร้างด้วยไม้และไม้ไผ่ประดับประดาด้วยตุงกระดาษสา สีสันสวยงาม มีโลงศพที่บรรจุสรีร่างของพระผู้ล่วงลับตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของปราสาท ก่อนจะมัดโลงให้ยึดติดอยู่กับปราสาท เพื่อป้องกันโลงตกในระหว่างการแห่ปราสาท ก่อนจะนำไม้ไผ่ลำพอเหมาะ มายึดเข้ากับตัวปราสาทเพื่อใช้ในการแห่ง ปราสาทที่สูงจากฐานจนถึงปลายยอดกว่า10 เมตร กว้างกว่า 8 เมตร น้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 300-400 กิโลกรัม ผู้ชายที่จะมาทำหน้าที่แห่ปราสาทจึงต้องผ่านการฝึกร่างกายให้มีความแข็งแรง รวมทั้งผ่านการซ้อมท่าร่ายรำให้มีความพร้อมเพรียง เพื่อให้การแสดงออกมาเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ชมที่นั่งล้อมวงชมการแสดงรอบๆลานวัด ตลอดระยะเวลาการแห่ปราสาทที่ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง

90

นายทิวา คงนานดี ปราญช์ชาวกะเหรี่ยงอำเภอสังขละบุรี  เล่าถึงที่มาของการรำแห่ปราสาทว่าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและอาลัย ต่อพระสงฆ์ผู้ที่ล่วงลับไป โดยเชื่อว่าการร่ายรำ ประกอบบทเพลงที่พรรณนาถึงคุณความดีสรรเสริญถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ผู้ที่ล่วงลับไป เพื่อให้ความดี กุศลบุญ และธรรมที่ท่านได้ปฎิบัติมา ส่งผลบุญให้ท่านได้พบพระนิพพานตามที่ท่านมุ่งมาดปราถนา

ซึ่งการแห่ปราสาทจะนิยมแห่กันเฉพาะกรณีที่ผู้ที่ล่วงลับเป็นพระสงฆ์ที่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป หรือพระภิกษุสงฆ์ที่ความอาวุโส ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ เป็นที่ให้ความเคารพของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เท่านั้น

สำหรับปราสาทที่สร้างขึ้นมาจะเป็นปราสาทที่มีจำนวนยอด 7ชั้นสำหรับพระภิกษุทั่วไป ส่วนปราสาทยอด 9 ชั้นจะนิยมทำให้เฉพาะพระภิกษุระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป หรือเป็นพระภิกษุที่มีพรรษาสูงและเป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือของชาวบ้านเท่านั้น

ตามคติความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงการได้มีโอกาสร่วมงานประชุมเพลิงเพื่อสลายร่างของพระภิกษุสงฆ์ นับเป็นบุญใหญ่ที่ไม่ค่อยมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยนัก เมื่อมีการจัดงานดังกล่าวขึ้นมาแม้จะอยู่ไกล หรือการเดินทางยากลำบากแค่ไหน ทุกคนก็จะหาโอกาสไปร่วมบุญให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมจัดงาน 3 วัน 3 คืน หรือ 7 วัน 7 คืน ขึ้นอยู่กับคุณวุฒิของพระที่มรณภาพ หรือความพร้อมของญาติโยม เนื่องจากในการจัดงานจะต้องมีการเปิดโรงทานเพื่อเลี้ยงอาหารชาวบ้านหรือผู้ที่มาแสวงบุญ ตลอดเวลาของการจัดงาน

ส่วนพิธีกรรมทางสงฆ์ก็จะมีการปฎิบัติเหมือนงานบำเพ็ญกุศลศพพระสงฆ์ทั่วไปที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมได้ร่วมทำบุญบูชาพระไตร เพื่อนำไปทอดผ้าต่อหน้าปราสาทของพระที่มรณภาพ  มีการทำร่วมทำบุญดอกไม้จันท์ที่ชาวบ้านและคณะกรรมวัดได้จัดเตรียมไว้ มีการฟังพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทุกค่ำคืนตลอดงาน รวมทั้งมีการถวายจตุปัจจัยไทยทาน แด่พระภิกษุสงฆ์ที่มาสวดพระอภิธรรมเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แด่พระสงฆ์ผู้ล่วงลับ

เมื่อถึงเวลากำหนดการประชุมเพลิง ก็จะมีการเคลื่อนปราสาทไปยังพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้  โดยมีการสร้างเชิงตะกอนที่มีท่อนฟืนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการสลายร่างพระสงฆ์ผู้มรณภาพ มีการกล่าวคำขอขมาต่อร่างพระสงฆ์ผู้ล่วงลับโดยกานำของผู้อาวุโสในชุมชน ก่อนจะเปิดให้พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานนำดอกไม้จันท์ไปวาง เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน จึงมีการนิมนต์พระกิตติสุวัฒนาภรณ์ (เจ้าคุณเพิ่ม)เจ้าอาวาสเทวสังฆาราม พระอารามหลวงเป็นประธานในพิธีการประชุมเพลิง

การประชุมเพลิงพระสงฆ์นิยมทำกันบริเวณพื้นที่กลางแจ้ง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงาน ได้พิจารณาธรรมจากกองเพลิงที่ลุกไหม้ร่างของพระสงฆ์ผู้ล่วงลับ เพื่อพิจารณให้เห็นถึงความไม่เที่ยง การเตรียมความพร้อมก่อนตาย ด้วยการทำความดี ละเว้นความชั่ว ดำรงตนตามปัจฉิมโอวาท( เป็นคำสอนครั้งสุดท้ายก่อนจะปรินิพพาน) ว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
   //////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...