ลุยพัฒนา กยท. จับมือญุี่ปุ่น แปรรูปเมล็ดยางผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ชาวสวนยาง เตรียมเฮ! มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคง
กยท. จับมือเอกชนญี่ปุ่น ขับเคลื่อนขยายผลการแปรรูปเมล็ดยางพาราเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากวัตถุดิบชีวมวล ไร้มลพิษ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรับกระแสโลก เร่งเดินหน้าศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมในทุกๆด้าน มั่นใจจะช่วยเสริมเพิ่มรายได้และความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยการนำเมล็ดยางพาราไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบชีวมวล สำหรับใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ไม่มีมลพิษรักษาสภาพแวดล้อม ถือเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่จะปรับความสมดุลทางระบบนิเวศในระยะยาว สอดคล้องกับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกับบริษัท Nomura Jimusho, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพและผลิตภัณฑ์ด้านชีวมวลในระดับโลก
และเมื่อเร็วๆนี้ ยังได้มีการลงนามความร่วมมือ(MOU) “โครงการศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า” เพื่อมุ่งวิจัยจัดหาเมล็ดยางพารา แปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก หวังสร้างสมดุลนิเวศระยะยาว เพิ่มมูลค่าเมล็ดยาง สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นอกเหนือจากการขายน้ำยางอีกด้วย
"เมล็ดยางจะออกประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของทุกปี เกษตรกรจะคัดเมล็ดเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นหากนำเมล็ดยางพาราดังกล่าวมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า จะทำให้เกษตรกรสามารถขายเมล็ดยางสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งบริษัทNomura Jimusho, Inc. ยินดีที่จะรับซื้อทั้งหมด ส่วนจะซื้อในราคาเท่าไรนั้นยังไม่มีการกำหนด เพราะยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัยขยายผลไปสู่สวนยางของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการขยายผลให้เป็นรูปธรรม" นายณกรณ์กล่าว
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อไปว่า กยท.ในฐานะที่เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราในประเทศทั้งระบบ โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำสวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ
ก่อนหน้านี้ที่ กยท.ได้ลงนาม MOU กับองค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) การพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรชาวสวนยาง ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การลงนาม MOU โครงการศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า กับบริษัท Nomura Jimusho, Inc. จะช่วยสร้างรายได้และอนาคตที่ยั่งยืนให้เกษตรกรทั้งในรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อๆไป
สำหรับโครงการศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าดังกล่าว เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อจัดหาเมล็ดยางพาราและการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการขนส่ง การจัดเก็บรวบรวม การซื้อและการชำระเงิน ตลอดจนศึกษาปริมาณเมล็ดยางพาราต่อหน่วยพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย สำหรับเตรียมนำไปเป็นเป็นวัตถุดิบชีวมวล โดย กยท. จะรวบรวมเมล็ดพันธุ์ยางจากเกษตรกร
ซึ่งจะทำให้ทราบถึงปริมาณและศักยภาพในการใช้เมล็ดยางพาราเป็นสารเติมแต่งทางชีวภาพ นอกจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดยางพารา และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากภาคการเกษตรแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายชีวมวลอีกด้วย ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล