กรมสรรพสามิตเผยเดือนมีนาคม 2567 จับ 3,202 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 77.02 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 568.72 ล้านบาท โดยมีคดีสุราเป็นจำนวนมากที่สุดตามด้วยยาสูบ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 นั้น
กรมสรรพสามิตยกระดับการปราบปราม ด้วยศูนย์ปราบปรามออนไลน์ และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เผยเดือนมีนาคม 2567 จับ 3,202 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 77.02 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 568.72 ล้านบาท โดยมีคดีสุราเป็นจำนวนมากที่สุดตามด้วยยาสูบ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 นั้น คดียาสูบเป็นคดีที่มีค่าปรับและประมาณการค่าปรับสูงสุด ที่ 21.93 ล้านบาท และ 1.49 พันล้านบาท ตามลำดับ
ดร. นิตยา โสรีกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญและดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงยกระดับการดำเนินงานและการขยายผลของศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ตามนโยบายของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต โดยในเดือนมีนาคม 2567 (ระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2567) พบการกระทำผิด จำนวน 3,202 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 77.02 ล้านบาท และประมาณการค่าปรับ 568,723,950.05 บาท ประกอบด้วย
1. สุรา จำนวน 1,651 คดี ค่าปรับ 14.15 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 1.74 ล้านบาท จำนวนของกลาง 8,688.835 ลิตร
2. ยาสูบ จำนวน 1,199 คดี ค่าปรับ 33.61 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 547.42 ล้านบาท จำนวนของกลาง 326,738 ซอง
3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 122 คดี ค่าปรับ 20.23 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 9.62 ล้านบาท จำนวนของกลาง 806,590 ลิตร
4. สินค้าอื่น ๆ จำนวน 230 คดี ค่าปรับ 9.01 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 9.91 ล้านบาท
ดร. นิตยา กล่าวว่า สำหรับคดีสำคัญ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีค่าปรับและประมาณการค่าปรับสูงสุดเป็นคดียาสูบ ตามด้วยสุรา น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประกอบด้วย
1. ยาสูบ จำนวน 6,141 คดี ค่าปรับ 21.93 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 1.49 พันล้านบาท จำนวนของกลาง 1,696,845 ซอง
2. สุรา จำนวน 8,154 คดี ค่าปรับ 75.02 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 12.2 ล้านบาท จำนวนของกลาง 70,604.766 ลิตร
3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 653 คดี ค่าปรับ 48.05 ล้านบาท จำนวนของกลาง 1,812,945 ลิตร
4. สินค้าอื่น ๆ จำนวน 1,106 คดี ค่าปรับ 54.06 ล้านบาท
ดร. นิตยา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมสรรพสามิตได้มีการยกระดับการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายในทุกช่องทาง ทั้งในส่วนของการดำเนินการโดยศูนย์ปราบปรามออนไลน์ รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอกเพื่อปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด โดยหากสินค้าเหล่านี้เล็ดลอดออกไป จะสร้างความเสียหายอย่างมาก ทั้งเรื่องความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีอย่างสุจริตและความปลอดภัยในด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชนจากการบริโภคสินค้าไม่ได้คุณภาพ ซึ่งกรมฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชน ตามยุทธศาสตร์ของกรมฯ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล”
“ดังนั้น หากพี่น้องประชาชนทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมลล์ excise_hotline@excise.go.th โดยกรมสรรพสามิตจะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสใด ๆ ทั้งสิ้น”