นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยถึงแนวทางการปฏิบัติงานทะเบียนครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว ภายหลังจากกรมการปกครองได้พบปัญหาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพยานในการจดทะเบียนสมรสของสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนเขต รวมถึงกรณีผู้ที่มาจดทะเบียนสมรสต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินค่าตอบแทนให้กับผู้มาเป็นพยาน ซึ่งประชาชนอาจมีความเข้าใจไม่ถูกต้องจนส่งผลทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกินสมควร
“ในเรื่องการเป็นพยานตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวนั้น ได้มีการระบุว่า บุคคลที่จะเป็นพยานไม่ได้ มี 3 ประเภท คือ 1. บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2. บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และ 3. บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง โดยกรณีการจดทะเบียนสมรส กฎหมายได้กำหนดให้พยาน 2 คน ต้องลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนด้วยพร้อมกับผู้ขอจดทะเบียนสมรสเพื่อยืนยันการแสดงเจตนายินยอมจดทะเบียนสมรสของผู้ร้องทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถให้การยืนยันในกรณีที่อาจมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับการสมรสในภายหลังได้เท่านั้น ซึ่งนายทะเบียนไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้บุคคลที่จะมาเป็นพยานต้องรู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้ร้องขอจดทะเบียนสมรสทั้ง 2 ฝ่ายหรือต้องรู้จักเป็นอย่างดี หากบุคคลที่มาเป็นพยานมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ 3 ประการข้างต้น ก็ย่อมสามารถเป็นพยานและลงนามในทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียนได้” นายอรรษิษฐ์ กล่าว
นายอรรษิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานทะเบียนครอบครัวเกี่ยวกับการเรียกพยานเป็นไปในทางเดียวกัน กรมการปกครองจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติงานกับสำนักทะเบียนทุกแห่ง ซึ่งกรณีประชาชนหรือผู้ร้องมาติดต่อขอรับบริการงานทะเบียนครอบครัว ให้นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติของพยานว่าต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามดังกล่าว โดยหากผู้ร้องไม่ได้นำพยานมาด้วยตนเอง ให้นายทะเบียนชี้แจงให้ผู้ร้องเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขความจำเป็นของพยานตามระเบียบกฎหมาย และให้คำนึงถึงความสมัครใจของพยานที่ต้องสามารถยืนยันการแสดงเจตนาการยินยอมจดทะเบียนครอบครัวของผู้ร้องได้
“หากกรณีผู้ร้องต้องการให้นายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่จัดหาพยานหรือขอคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดหาพยาน นายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ไม่ควรเป็นธุระจัดหาหรือแนะนำพยานให้แก่ผู้ร้อง และให้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ร้องได้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและความจำเป็นที่ต้องนำพยานมาด้วยตนเอง เพื่อจะได้ไม่เสียเงินหรือค่าตอบแทนให้กับกลุ่มบุคคลที่รับสมอ้างว่าจะเป็นพยานให้ได้ เพราะการเป็นพยานจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และอาจต้องเป็นพยานให้การทั้งในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือในชั้นศาลหากเกิดคดีเป็นข้อพิพาทภายหลังของคู่กรณีที่จดทะเบียนครอบครัว ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเอกสารต่าง ๆ ซึ่งต้องมีพยาน ให้เรียกค่าพยานรายตัวพยานจ่ายให้แก่พยาน โดยนายทะเบียนต้องถือปฏิบัติตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอ พ.ศ. 2503 ซึ่งกำหนดไว้คนละ 2.00 บาท” นายอรรษิษฐ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า กรมการปกครองยังได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร กำชับให้นายทะเบียนและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ถือปฏิบัติในการบริการประชาชนให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและจรรยาบรรณของผู้ปฏิบัติงานทะเบียนอย่างเคร่งครัด และไม่ให้เรียกรับประโยชน์อื่นใดจากประชาชนผู้มารับบริการอย่างเด็ดขาด หากพบหรือมีการร้องเรียนดังกล่าวให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายอย่างเฉียบขาด นอกจากนี้ ให้ทุกจังหวัด อำเภอ ได้ใช้กลไกการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจในระดับพื้นที่ทุกช่องทางอย่างทั่วถึง เช่น กลุ่มไลน์ โซเชียลมีเดีย หรือการชี้แจงในที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนทราบถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ของการเข้ารับบริการด้านงานทะเบียน ซึ่งจะทำให้เกิดการป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้กลุ่มบุคคลที่สามที่อ้างว่าจะช่วยเหลือในเรื่องงานทะเบียนและเรียกผลประโยชน์หรือค่าตอบแทน ที่ถือเป็นลักษณะการหลอกลวง โดยหากประชาชนพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย สามารถแจ้งสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ทันที