วันนี้ 14 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายระเบียบ ปทุมสูตร นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ นายสุที แก้วปาน ประธานสภาเทศบาลตำบลสระลงเรือ นายชัยวัฒน์ ธนวัฒน์สุวรรณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขตอำเภอห้วยกระเจา นายสมยศ เชาว์รักษ์ กำนันตำบลสระลงเรือ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะที่ 2 บ้านหนองบัวหิ่ง หมู่ 4 ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวสามารถนำน้ำไปให้ประชาชนชาวตำบลสระลงเรือใช้ในการอุปโภคบริโภคครอบคลุมทั้ง 17 หมู่บ้านแล้ว 100%
ทั้งนี้ นายระเบียบ ปทุมสูตร นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ กล่าวว่า เขตเทศบาลตำบลสระลงเรือของเรามี 17 หมู่บ้าน นับย้อนหลังกลับไปหลายสิบปีพื้นที่ของเราไม่เคยมีน้ำประปาใช้ อีกทั้งเป็นพื้นที่เงาฝนที่มีความแห้งแล้งซ้ำซาก แต่เมื่อถึงเวลาฝนตกลงมาก็เกิดน้ำท่วม เมื่อฝนไม่ตกก็เกิดความแห้งแล้งน้ำไม่มีใช้ทั้งภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภคเพราะแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ได้เพราะพื้นที่เป็นดินทรายน้ำจึงซึมลงไปใต้ดิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางเทศบาลต้องนำรถไปบรรทุกน้ำที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มาแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน
หลายปีที่ผ่านมาทางเทศบาลตำบลสระลงเรือได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขุดเจาะบาดาลเพื่อให้ทุกหมู่บ้านได้มีน้ำใช้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาทางเทศบาลได้มีโอกาสปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.จังหวัดกาญจนบุรี เขต 4 พรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งท่านได้คำแนะนำว่า ไม่จำเป็นจะต้องเจาะบ่อบาดาลให้กับทุกหมู่บ้าน แต่จะต้องสำรวจหาพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ หากพบก็ให้เจาะแล้วกระจายน้ำที่มีอยู่ไปให้กับทุกหมู่บ้านได้เลย ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวพวกเราชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าสามารถทำได้
และในที่สุดท่านได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบาดาลลงพื้นที่สำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ตำบลสระลงเรือทั้ง 17 หมู่บ้าน ใช้เวลาออกสำรวจนานกว่า 1 เดือนจนกระทั่งมาพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในที่ดินของเอกชนท้องที่หมู่ 4 บ้านหนองบัวหิ่ง ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา
แต่ปัญหาที่พบคือที่ดินนั้นเป็นที่ของชาวบ้านที่เป็นโฉนด ไม่ใช่ที่ดินของรัฐหรือที่ดินสาธารณะ ทางเทศบาลตำบลสระลงเรือจึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จะนำงบประมาณมาจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้เพราะมันผิดระเบียบของทางราชการ
แต่ต่อมาข้าราชการ รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่เทศบาลตำบลสระลงเรือ ได้พร้อมใจกันเสียสละเงินเดือนคนละ 1 เดือน มอบให้กับเทศบาล นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการร้านค้ารวมทั้งชาวบ้านช่วยกันบริจาคสมทบทุนด้วยความเต็มใจ สุดท้ายก็สามารถจัดซื้อที่ดินของชาวบ้านบริเวณที่พบแหล่งน้ำบาดาลเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน เป็นเงินจำนวนกว่า 1 ล้านบาท
จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)จึงนำเจ้าหน้าที่มาสำรวจหาแหล่งน้ำอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งผลปรากฎว่าพบแหล่งน้ำใต้ดินอยู่หลายจุด แต่ละจุดอยู่ที่ความลึก ประมาณ 80-152 เมตร รวม 6 จุด เจ้าหน้าที่จึงนำเครื่องจักรมาขุดเจาะ พบว่าแต่ละบ่อได้ปริมาณน้ำอยู่ที่30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำงบประมาณมาลง ได้ทำการตรวจสอบเพื่อความแน่ชัดด้วยการทดลองสูบน้ำขึ้นมาอย่างเต็มกำลังนานถึง 72 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าน้ำใต้ดินลดลงไปเพียงแค่ 5 เมตรเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทรพยากรน้ำบาดาล แจ้งให้ทราบว่าแหล่งบาดาลใต้ดินมาจำนวนมหาศาลมาก
จากนั้นนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ลงพื้นที่เพื่อมาให้คำปรึกษาพร้อมกับแนะนำว่าให้ทางเทศบาลตำบลสระลงเรือจัดทำโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อของบประมาณ และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงรับไว้เป็น 1 ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งหลังจากพสกนิกรชาวสระลงเรือทราบ ต่างก็รู้สึกปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้
ต่อมา ปี 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติงบกลางให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลนำมาก่อสร้างถังแชมเปญขนาด 300 คิว ถังพักน้ำขนาด 1,000 คิว 2 ถัง และเรายังโชคดีที่ได้ท่อเมนกระจายน้ำประปาเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตรซึ่งครอบคลุมไปทั้ง 17 หมู่บ้านของเทศบาลตำบลสระลงเรือ ซึ่งถือว่าเราได้ท่อเมนกระจายน้ำประปาไปตามหมู่บ้านต่างๆมากที่สุดในภาคตะวันตก ปัจจุบันชาวเทศบาลตำบลสระลงเรือทั้ง 17 หมู่บ้าน 2,000 กว่าครัวเรือน ประชากร 7,000 กว่าคน ได้ใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคแล้ว 100 %
นายระเบียบ ปทุมสูตร นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลสระลงเรือภูมิใจคือ เมื่อวันพุธที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารได้รับรางวัลเครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2567 ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จากการบริหารจัดการโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ของเทศบาลตำบลสระลงเรืออีกด้วย
////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน