รายงานข่าวจาก กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ระหว่างหาทางออกเกี่ยวกับการรักษาสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ อย่างหนัก ภายหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งราคาในตลาดโลกยังคงตัวอยู่ระดับสูงจากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่สงบจากสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 มีมติพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซล 0.20 บาทต่อลิตร จาก 4.57 บาทต่อลิตร เป็น 4.77 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 30.44 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในมติดังกล่าวเป็นไปตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 เป็นต้นไป โดยการดำเนินการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซล กบน. จะพิจารณาถึงข้อมูลต่างๆ ตามความเหมาะสมของช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและการบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมันมากจนเกินไป และตามแผนวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องดีขึ้น
สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 7 เมษายน 2567 ติดลบ 101,606 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 54,468 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,148 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการที่กองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือนก.ย. 2566 ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้ทะลุ 1 แสนบาทแล้ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กองทุนฯ มีภาระหนี้มากเกินไป และเป็นการรักษาสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของกองทุนน้ำมันฯ กระทรวงพลังงานต้องเร่งนำปัญหาดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนไปพร้อมกับการลดภาระหนี้ของกองทุนฯ ด้วยอย่างไรก็ตาม การที่ กบน.ปรับขึ้นราคาดำเนินการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล กบน. จะพิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากนัก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำมันดีเซล ประมาณ 71 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ ได้มีการอุดหนุนดีเซลกว่า 4 บาทต่อลิตร แม้จะปรับราคาขึ้นมา 50 สตางค์ต่อลิตร เป็น 30.44 บาทต่อลิตร ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ยังคงอุดหนุนราคาดีเซลด้วยตัวกองทุนน้ำมันฯ มาอย่างต่อเนื่องเพราะราคาจริงเกือบจะทะลุ 40 บาทต่อลิตรแล้ว "แม้ตอนนี้จะยังมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 เมษายน 2567 ช่วยอยู่อีก 1 บาทต่อลิตร จากที่ต้องเก็บเต็มอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร แต่นับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2567 จะเป็นอย่างไร ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่ารัฐบาลจะให้กระทรวงการคลังลดภาษีในส่วนนี้อีกหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆ เข้ามาอุดหนุนเลย ราคาดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 35-36 บาทต่อลิตร จึงทำให้กบน. จะต้องทยอยปรับขึ้นราคาทีละ 50 สตางค์ต่อลิตรดังกล่าว"
4 แนวทางรอดของกองทุนน้ำมันฯ ประกอบด้วย
1. ขออนุมัติต่อมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1-2 บาทต่อลิตร รวม 3 เดือน โดยกรณีลดลิตรละ 1 บาท ทำให้รัฐเสียรายได้ 6,000 ล้านบาท
2. ขออนุมัติงบประมาณกลางเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ในการอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม
3.ลดการชดเชยราคาดีเซล เพื่อเพิ่มเพดานราคาให้สูงเกินลิตรละ 30 บาท โดยทยอยปรับขึ้นตามกลไกตลาดเป็นลิตรละ 31-32 บาท
4.ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม จากเดิมที่กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ภายใน 1 ปี ระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค.2566 ซึ่งปัจจุบันกู้ไป 105,333 ล้านบาท เพื่อชำระให้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท