ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - เทศกาลสงกรานต์ ผีกะลา ประเพณีผีผ่านร่างความเชื่อโบราณของชาวบ้านรางเฆ่ ที่สืบทอดกันมานับ 100 ปี
17 เม.ย. 2567

           ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ต.พังตรุ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ที่วัดรางเฆ่ สักกะพุทธาวาส ชาวบ้านในระแวกนี้ได้ทำการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิถีความเชื่อ ประเพณีการละเล่น "การเข้าผีกะลา" ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน เพื่อให้ลูกหลานได้ชม และสืบทอดรักษาวัฒนธรรมประเพณีให้คงอยู่สืบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ วัดรางเฆ่สักกะพุทธาวาส  ตำบลพังตรุ  อำเภอท่าม่วง  จังหวัดกาญจนบุรี นาย ธานาวัต การพานิช สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขต4 อำเภอท่าม่วง พร้อมด้วยผู้นำชุมชนในท้องที่ ได้จัดให้มีการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิถีความเชื่อ ประเพณีการละเล่น "การเข้าผีกะลา" ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี โดยมี นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ (หมอหวัด) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้มาเป็นประธานเปิดงานประเพณีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมี คุณพลอย ธนิกุล  ว่าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายนพพล สุกิจปาณีนิจ นายอำเภอท่าม่วง ร่วมในประเพณีการละเล่น "การเข้าผีกะลา" ที่จัดขึ้นในงานเทศกาลสงกรานต์ในบริเวณลานหน้าวัดรางเฆ่ โดยในวันนี้บรรยากาศของการละเล่น "การเข้าผีกะลา" มีชาวบ้านและประชาชน ที่มาร่วมงานได้ให้ความสนใจ ได้เข้าชมการละเล่นที่หาดูได้ยากกันอย่างเนืองแน่นเพราะคนรุ่นใหม่ส่วนมากนั้นไม่มีใครรู้จักประเพณีการเข้าผีกะลานี้เลย

โดยนายธานาวัต การพานิช สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขต4 อำเภอท่าม่วง ได้กล่าวว่า "การเข้าผีกะลา" เป็นการละเล่นพื้นบ้านตามความเชื่อของชาวบ้าน ปัจจุบันหาดูได้ยาก แต่ผู้แก่ผู้เฒ่า ณพื้นที่นี้ได้เล่นสืบทอดกันมาเป็น 100 ปีแล้ว จึงอยากให้ประเพณีนี้ได้มาการสืบทอดของวัฒนธรรมประเพณีการละเล่นและช่วยกันรักษาไว้ได้อย่างครบถ้วนเพื่อให้คนรุ่นหลังนั้นได้เห็นวิถีประเพณีนี้กันไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

 โดยวิธี "การละเล่นเข้าผีกะลา" จะมีการจุดธูปสองดอกที่ลานกลางแจ้งก่อนเพื่อบอกกล่าวผีว่าจะมีการเล่นผีกะลาก่อน จากนั้นจะใช้ผ้าปิดตาผู้ที่ที่จะให้ผีเข้าร่าง ซึ่งส่วนใหญ่นิยมให้ผู้หญิงเป็นคนทรง ด้วยการพับผ้าเป็นแถวยาวคาดที่ดวงตาทั้งสอง ความประสงค์คือไม่ให้มองเห็น จากนั้นนำกะลาตัวผู้ (กะลาตาเดียว) มา 1 ฝา หงายลงที่พื้น ให้คนที่จะเข้าผีนั่งโดยใช้เท้าทั้ง 2 ข้างเหยียบบนกะลาห้ามให้เท้าแตะโดนพื้น มือทั้งสองยันไว้ที่พื้น และจะมีคนดูยืนคุมอยู่ข้างๆเลี้ยงว่าพี่เลี้ยง จานั้นจะมีชาวบ้านมานั่งรอบๆ เป็นคนคอยตีให้จังหวะและร้องเพลงเชิญผีให้มาเข้าโดยจะใช้ท่อนไม้ไผ่คนละ 2 ท่อน ตีลงไปที่ลำไม้ไผ่ยาวที่วางไว้ด้านหน้า โดยจะช่วยกันร้องพร้อมกันว่า "กุ๊ก มา เถอะ กุ๊ก มา เถอะ กุ๊ก ไม่มา ผีกะลามาเข้า" คนร้องจะช่วยกันร้องเรื่อยไป กระทั่งถ้ามีผีเริ่มเข้าคนที่นั่งบนกะลา กะลาจะหมุนเองและจะล้มลงบนพื้น แสดงว่าผีเข้าแล้ว แต่ถ้าผีไม่ยอมเข้าให้เปลี่ยนคนเข้าผีใหม่ เพราะจิตแข็ง ให้เลือกเอาคนจิตอ่อนมาเข้าผีใหม่ และเมื่อผีเข้าแล้วคนที่ถูกผีเข้าจะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าต้องใช้คนเข้ามาช่วยกันอุ้มให้รุกขึ้นหลายคน จากนั้นจะร้องเพลงอะไรก็ได้ คนเข้าผีจะรำไปตามจังหวะของเพลง ซึ่งเพลงที่นิยมนำมาร้องส่วนใหญ่จะเป็นเพลงจังหวะเร็ว ที่ให้ความสนุกสนาน เช่น เพลงรำวง หรือเพลงพื้นเมือง ถ้าเพลงใดผีที่เข้าไม่ชอบก็จะไม่เต้นหรือไม่ก็ล้มลงพื้นดื้อๆเลย 

เมื่อต้องการจะหยุดเล่นให้ผีออก พี่เลี้ยงก็จะไปร้องวี๊ดดังๆข้างหูหรือเรียกชื่อดังๆ คนเข้าผีจะล้มลง ผีก็ออก เมื่อผีออกแล้วคนที่โดนเข้าจะมีอาการที่เหนื่อยและอ่อนแรงมากๆ ต้องพยุงไปนั่งพัก เมื่อสอบถามคนเข้าผีว่ารู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง  เขาจะบอกว่าไม่รู้ตัวเลยแต่ตอนที่จะเข้าจะมีความรู้สึกหวิวๆเหมือนมีอะไรมากระแทกที่หัวบางคนก็บอกว่ามีอะไรมากระแทกที่หน้าอกหลังจกนั้นก็ไม่รู้เรื่องอะไรอีกเลย การที่ร่ายรำอะไรออกไปนั้นไม่รู้สึกตัวอะไรทั้งสิ้น  เป็นเรื่องของผีทั้งหมด โดยเทศกาลที่จะเล่นเข้าผีกะลา ชาวบ้านจะนิยมที่จะเล่นในช่วงเทศการงานสงกรานต์ โดยมีคุณประโยชน์ของการเข้าผีกะลา เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองสนุกสนาน เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะด้วยและเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไม่ให้จางหายไป

นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ (หมอหวัด) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวว่า “เป็นการละเล่นที่แปลกและไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งทราบว่าเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีมานานแล้วแต่จริงๆ แล้วถ้าได้ประกาศเป็นประเพณีท้องถิ่นของกาญจนบุรีเนี่ย ก็จะสามารถนำงบประมาณมาใส่ได้ก็จะทำให้งานยิ่งใหญ่ขึ้นได้ครับ ก็ต้องช่วยกันผลักดันถ้างานใหญ่ขึ้นประโยชน์ก็ตกอยู่กับพี่น้องประชาชนแน่นอน
 
นายนพพล สุกิจปาณีนิจ นายอำเภอท่าม่วง กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าเป็นประเพณี เป็นอัตลักษณ์ที่สามารถส่งเสริมได้เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวเมืองกาญจน์เราได้ เพราะว่าคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ในการละเล่นเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่มาร่วมงานโดยรอบก็สนุกสนานไปด้วยก็ถือว่าเป็นประเพณีที่ดีมากครับ ผมในฐานะนายอำเภอก็พร้อมที่จะผลักดันให้ประเพณีของพี่น้องชาวพังตรุ (เข้าผีกะลา) โด่งดังไปทั่วประเทศ
    /////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...