“ชูศักดิ์” หวั่นแก้รธน.ในรัฐสภาถึงทางตัน ขอ “วันนอร์” หารือฝ่ายกฎหมายหลังศาลรธน. ปัดวินิจฉัยอำนาจบรรจุวาระ มองหากเลือกทางประชามติ3ครั้ง ควรแก้กม.ประชามติก่อน
ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องที่รัฐสภาสอบถามถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก่อนการทำประชามติ ว่า จากที่ตนได้อ่านคำวินิจฉัยแล้ว มองว่าเรื่องการบรรจุระเบียบวาระนั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานรัฐสภา จึงไม่เป็นเหตุของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องถามไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยแล้ว จะเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งตนมองว่าควรหารือกับสำนักงานกฎหมายที่เป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งเสนอว่าไม่บรรจุวาระ ว่าควรทำอย่างไรต่อไป
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่าส่วนคำวินิจฉัยข้อสองหากท้ายสุดไม่บรรจุวาระ และยืนยันความเห็นเดิมเพราะเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พรรคการเมืองและ สส. ไม่มีทางไป เนื่องจากเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว แต่ไม่บรรจุวาระให้ จึงไม่มีเรื่องพิจารณา ดังนั้นอาจถึงทางตัน จึงไม่มีทางเลี่ยง คือ ต้องทำประชามติ ตามที่นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เสนอคือ ออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง
“ด้วยความเคารพประธานรัฐสภา มุมมองผมคือน่าจะหารือสำนักกฎหมายฐานะเจ้าของเรื่อง เพื่อพิจารณาว่าจะเดินอย่างไรถึงจะเหมาะและไปได้ เป็นข้อแนะนำของผมเท่านั้นไม่กล้าก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา” นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญยื้อไม่ได้แล้วและต้องตัดสินใจทันทีใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า "ไม่มีอะไรยื้อแล้ว เพียงแต่ว่า อยากให้ลองหารือให้รอบคอบว่ามีทางไปทางอื่นหรือไม่อย่างไร”
เมื่อถามถึงแนวทางที่ต้องดำเนินการออกเสียงประชามติได้เลยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่นายภูมิธรรมสรุป คือ ต้องถาม 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก ถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีร่างแก้ไขเสนอเข้าสู่สภา ครั้งสอง แก้ไขมาตรา 256 จากนั้นนำไปทำประชามติ และครั้งสาม เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อถามว่าต้องแก้ไขกฎหมายประชามติว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติที่ใช้เสียงข้างมากเกินครึ่งหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ ถูกเสนอในสภาฯ ทั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดว่าหากจะทำประชามติต้องแก้กฎหมายประชามติก่อนหรือไม่ หากแก้ไข ตนมองว่าสามารถเร่งรัดได้ภายใน 6 เดือน.