Iสภาทนายความแสดงจุดยืน เสนอ 6 ข้อเรียกร้อง ช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายเหตุขนย้ายกากแร่แคดเมียม
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ นางทัดดาว จตุรภากร กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ รองประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ และนางสาวรำไพ ชำนาญเพชร กรรมการสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงข่าว กรณีการขนย้ายกากแร่แคดเมียมจากหลุมฝังกลบที่จังหวัดตากไปยังพื้นที่ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงจุดยืนการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ปกป้อง และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงและข้อสังเกตในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่าได้มีการขุดหลุมฝังกลบกากแร่แคดเมียมในพื้นที่จังหวัดตาก และมีการขนย้ายจากสถานที่ฝังกลบต้นทางไปยังสถานที่ปลายทางต่าง ๆ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวที่ทราบกันทั่วไป รวมทั้งมาตรการจัดการกากแคดเมียมด้วยการขนส่งกากแคดเมียมที่ตรวจพบกลับคืนพื้นที่ต้นทาง ก่อให้เกิดข้อสงสัยและข้อวิตกกังวลดังที่กล่าวมาข้างต้น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ขอแสดงจุดยืนเพื่อการคุ้มประโยชน์สาธารณะ ปกป้องและพร้อมเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวโดยกลไกทางกฎหมาย
สภาทนายความฯ จะได้ดำเนินการและขอเรียกร้องต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง 6 ข้อ ดังนี้
1. สภาทนายความฯ จะได้แต่งตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีประชาชน และชุมชนได้รับผลกระทบจากการขุดและส่งต่อกากแร่แคดเมียมจากบ่อฝังกลบของโรงงานถลุงแร่สังกะสีในจังหวัดตาก ไปยังสถานที่อื่น ๆ
2. สภาทนายความฯ จะได้ดำเนินการเรียกร้องและดำเนินคดีตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกับเจ้าของ หรือผู้ครอบครองมลพิษหรือแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองกากแคดเมียม เจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานถลุงแร่ เจ้าของหรือผู้ขนส่งกากแร่ เจ้าของหรือผู้รับกากของเสีย และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยต้องเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
3. สภาทนายความฯ จะได้ดำเนินการเรียกร้องและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐที่อนุญาตให้ขนย้ายกากของเสียอันตรายจากบ่อฝังกลบภายในโรงงานถลุงแร่สังกะสี โดยไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยต้องชดใช้เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
4. สภาทนายความฯ ขอเรียกร้องให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจเลือดและปัสสาวะประชาชน ชาวจังหวัดตาก และชุมชนที่อยู่รายรอบโรงงานถลุงแร่สังกะสี รวมถึงประชาชนในตำบลแม่กุ แม่ตาว พระธาตุผาแดง ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของแคดเมียมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของผู้ประกอบการ (บริษัทผาแดง อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)) และพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีการเก็บหรือครอบครองกากแคดเมียม และประชาชนหรือชุมชนอื่นที่มีการเก็บหรือครอบครองกากแคดเมียม
5. สภาทนายความฯ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐให้ผลักดันและผ่านการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR – Pollutant Release and Transfer Register) เพื่อเป็นมาตรการให้ผู้ประกอบการต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตในโรงงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง มาบังคับใช้โดยเร็ว และขอให้ตรวจสอบบ่อดักตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ทำเหมืองสังกะสี และบ่อฝังกลบกากตะกอนแคดเมียมในบ่อฝังกลบภายในโรงงานว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ
6. สภาทนายความเห็นว่ากากแคดเมียมที่เป็นกากของเสียอันตรายที่ตรวจพบในโรงงานต่างๆทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ต้องนำไปกำจัดหรือฝังกลบในโรงงานที่มีใบอนุญาตประเภท 101(โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม-Central Waste Treatment) (ฝังกลบกากของเสียอันตราย) เท่านั้น จะนำไปทำลายหรือฝังกลบที่อื่นไม่ได้ และเมื่อโรงงานถลุงแร่สังกะสีที่จังหวัดตากไม่ใช่โรงงานที่มีใบอนุญาตประเภท 101 (โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม -Central Waste Treatment -ฝังกลบกากของเสียอันตราย) จึงไม่สามารถนำกากแคดเมียมที่เป็นกากของเสียอันตรายกลับมาฝังกลบในโรงงานได้ เว้นแต่จะได้ใบอนุญาต 101 เสียก่อน แต่ใบอนุญาต 101 ก็ต้องทำรายงานอีไอเอ และได้รับการอนุมัติอนุญาตเสียก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย