วัดบ่อกรุ ตำบลบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี จัดสืบสาน “ธงประเพณีสงกรานต์” ตามโบราณประเพณีชาวลาวครั่ง วันศุกร์ที่ 19เมษายน 2567 พระครูโกมุทสุวรรณาภรณ์, ดร. เจ้าคณะตำบลบ่อกรุ เจ้าอาวาสวัดบ่อกรุ ประธานหน่วยอบรมประจำตำบลบ่อกรุ กล่าวว่า วัดบ่อกรุได้จัดสืบสานประเพณสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 13-19 เมษายน 2567 ทุกเช้าทางวัดจัดให้มีการทำบุญเนื่องในวันสงกรานต์เหมือนกับทุกๆ วัด และเวลาเย็นร่วมสืบสานประเพณีแห่ดอกไม้ของบ้านบ่อกรุ สำหรับวันที่ 19 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์บ้านบ่อกรุโดยการจัดงานประเพณียกธงสงกรานต์ของบ้านบ่อกรุ มีหมู่บ้านและชุมชนในตำบลบ่อกรุเข้าร่วมงานจำนวน 10 คันธง ซึ่งผ้าธงที่นำมาของแต่ละหมู่บ้าน ชุมชนได้ถักทอผืนผ้าทอ 5สี (ผ้าขาวม้า) ด้วยมือพร้อมประดับลวดลายลงบนผืนผ้า รูปแบบที่สื่อความหมายในการยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวิถีชีวิตชุมชนของชาวลาวครั่ง ผู้ร่วมงานส่วนหนึ่งยังคงมีการแต่งกายยึดถือความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านบ่อกรุด้วยการแต่งกายผ้าซิ่นตีนจกผ้าทอ 5 สี ในทุกปีการจัดงานประเพณียกธงสงกรานต์จะอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลบ่อกรุ ดร.ศักดิ์ชัย จันทร์ใหม่มูล นายกเทศมนตรีตำบลบ่อกรุ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อกรุ นายจำนงค์ จำนงค์รุ่งทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อกรุ ทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ คณะกรรมการวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณการจัดงาน พร้อมกันนี้ภายในงานจัดให้มีการสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ตามประเพณีสงกรานต์ทุกปีเช่นกันด้วย
นายการุณ สุทธิภูมิ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การจัดงานประเพณียกธงสงกรานต์วัดบ่อกรุ ได้กล่าวกับ พระครูโกมุทสุวรรณาภรณ์, ดร. ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะนี้ได้จัดทำการรวบรวมข้อมูล “ประเพณีโดดเด่นของแต่ละตำบลในจังหวัดสุพรรณบุรี เล่ม 1” เพื่อจัดทำรูปเล่ม E-Book นำเผยแพร่บน INTERNET ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในส่วนของสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรีก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนสืบสาน รักษาประเพณีที่ดีของบ้านบ่อกรุที่เห็นเด่นชัดจับต้องได้นำไปดำเนินการจัดทำในเล่ม 2ซึ่งเล่มที่ 1ที่จะพิมพ์เสร็จแล้วนั้นทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดได้คัดเลือก “งานห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ของวัดบ่อกรุ” จัดพิมพ์ไปก่อนนี้แล้ว