รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ นางเดรียเดร บอยด์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UNRC) และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) หารือความคืบหน้า ร่าง พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว รับทราบนโยบายบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สวัสดิการและการให้ความคุ้มครอง ขยายความร่วมมือขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางเดรียเดร บอยด์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UNRC) และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการด้านแรงงาน ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า การหารือในวันนี้ เป็นการหารือประเด็นความคืบหน้าการปรับปรุงพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 สวัสดิการและการให้ความคุ้มครองแก่แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนมาตรการการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ถือเป็นประโยชน์ในการกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงแรงงานจะได้สร้างความเข้าใจถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานบังคับ ตลอดจนการขยายสิทธิคุ้มครองและดูแลแรงงานต่างด้าว อันเป็นการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่อยู่ภายใต้ระบบสหประชาชาติให้แน่นเฟ้นมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านแรงงานให้เข้มแข็ง
พล.ต.อ. อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังได้ชื่นชมการดำเนินงานของรัฐบาลไทยที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเชิงวิชาการ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ ในช่วงที่มีการทบทวนร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดมากมาย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานและการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการเจรจากับประเทศต้นทางเพื่อเร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายตาม MOU อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ปรับลดขั้นตอนการทำงาน และการลดปัญหานายหน้า ฯลฯ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลผู้ด้อยโอกาส
ทั้งคนไทยและคนต่างชาติอย่างเสมอภาค โดยปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน NGOs และองค์กรต่างประเทศด้วย