PTTEP เผยกำไรไตรมาส 1 ปี 67 ที่ 1.86 หมื่นล้าน ลดลง 3.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (หรือลดลง 8% เทียบสกุลดอลลาร์ สรอ.) จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น พร้อมประกาศความสำเร็จการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ จากโครงการ G1/61 ช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า ปตท.สผ. และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิ 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 18,683 ล้านบาท) หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.13 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 4.71 บาท) กำไรสุทธิ ลดลง 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือร้อยละ 8 จากไตรมาส 1/66 ที่มีกำไรสุทธิ 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 19,281 ล้านบาท) หรือลดลง 3.1% เมื่อเทียบเป็นเงินบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.14 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 4.86 บาท)
จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่นๆ ในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวนกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
โดยมีรายได้รวม 2,209 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 78,812 ล้านบาท) ลดลง 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/66 ที่มีรายได้รวม 2,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 78,438 ล้านบาท) และ ลดลงประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 โดยปริมาณการขายเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 473,048 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายของโครงการในต่างประเทศลดลง
ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ไว้ที่ 28.96 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 74
โดยมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 1,277 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 45,571 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 1,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 41,376 ล้านบาท)
ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานปกติปรับตัวลดลงร้อยละ 8 เป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลงร้อยละ 6 มาอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรลเทียบเท่า น้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 มาอยู่ที่ 473,048 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ปตท.สผ. และบริษัทย่อยยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีสินทรัพย์รวม 27,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา(เทียบเท่า 990,677 ล้านบาท) โดยมีส่วนที่เป็นเงินสดคงเหลือ 5,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 187,953 ล้านบาท) มีหนี้สินรวม 12,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 438,771 ล้านบาท) โดยเป็นส่วนของหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจำนวน 3,685 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (เทียบเท่า 134,388 ล้านบาท) และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 15,135 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา(เทียบเท่า 551,906 ล้านบาท)
นายมนตรี กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญตามแผนกลยุทธ์ โดยได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยบริษัทมีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิต และเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม เพื่อรักษากำลังการผลิตของโครงการอย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
ปตท.สผ. ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่าง ๆ ของไทยในโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect เพื่อพัฒนางานวิจัยทางวิชาการด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม สร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึง การหาแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ โดยที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี