ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กรม ธร.เมินพิจารณาถอนสภาพที่ราชพัสดุ 3.5 ล้านไร่ ตามข้อปรึกษาหารือของ สส.ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ทำ ปชช.อดลืมตาอ้าปากได้
01 พ.ค. 2567

      วันนี้ 1 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 กล่าวว่า หลังจากที่ผมได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวกาญจนบุรี เขต 4 อ.ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และบ่อพลอย เลือกให้เข้าไปเป็นผู้แทนในสภาเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาปากท้องรวมทั้งปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชน

     ที่ผ่านมาผมได้เสนอข้อปรึกษาหารือในที่ประชุมผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปถึงกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ (ธร.)ให้พิจารณาถอนสภาพหรือยกเลิกที่ราชพัสดุให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ตนเองถือครองและทำมาหากินมาอย่างยาวนาน

       ซึ่งพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481 รัฐบาลสมัยนั้น ได้ก่อสร้างโรงงานกระดาษ จึงมี พ.ร.ฎ.ประกาศให้พื้นที่ประมาณ 3 ล้านไร่เศษ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี เพื่อสงวนหวงห้ามไม้ไผ่เอาไว้ป้อนเข้าโรงงานกระดาษเพื่อผลิตเป็นเยื่อกระดาษออกมา จนถึงขณะนี้ผ่านมานานถึง 86 ปีแล้ว

      ปัจจุบันโรงงานกระดาษได้ปิดกิจการมาแล้วประมาณ 50 ปี แต่ พ.ร.ฎ.สงวนหวงห้ามไม้ไผ่ยังคงอยู่ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก พื้นที่สงวนหวงห้ามไม้ไผ่ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนเมือง ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังและอื่นๆ ของประชาชนไปแล้ว

       การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2481 เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร มีแนวเขตที่ดินตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ประกอบด้วย 

       1.ที่ราชวัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กจ.209 อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง (บางส่วน) อำเภอไทรโยค (บางส่วน) อำเภอพนมทวน (บางส่วน) อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา อำเภอด่านมะขามเตี้ย(บางส่วน) และอำเภอศรีสวัสดิ์ เนื้อที่ประมาณ 3 ล้านไร่ และ 2.ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553 อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอจอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ประมาณ 5 แสนไร่

        จากข้อปรึกษาหารือเพื่อให้กรมธนารักษ์ (ธร.)พิจารณาการถอนสภาพหรือยกเลิกที่ราชพัสดุให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 ที่ผ่านมา นายสมมาตร มณีหยัน รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้มีการตรวจสอบที่ราชพัสดุในกรณีที่ผมได้ปรึกษาหารือให้พิจารณาถอนสภาพหรือยกเลิกที่ราชพัสดุให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ตนเอง

        พบว่าได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จ.กาญจนบุรี พ.ศ.2481 เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร ที่ดินดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นที่ราชพัสดุ ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 มาตรา 6(3)

         กรมธนารักษ์ได้มีแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ ดังกล่าวกล่าวดังนี้ กรณีที่ไม่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์และประสงค์ที่จะขอเช่า ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการจัดให้เช่าตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ โดยได้รับความยินยอมจากหน่วยงานผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ คือกองทัพบก

         และกรณีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ให้ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินในเขตที่ราชพัสดุตามมาตรการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เรื่องการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลที่อยู่ในที่ดินของรัฐ

         นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กล่าวว่าที่ดินควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1.ที่ดินที่ทางราชการยังใช้ประโยชน์อยู่ก็ไม่ควรไปเพิกถอน ปล่อยให้ราชการได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนที่ 2 พื้นที่ภูเขาที่มีสภาพเป็นป่าอยู่ควรสงวนเอาไว้เป็นที่ราชพัสดุเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต่อไป และส่วนที่ 3.พื้นที่ที่ประชาชนถือครองและใช้ประโยชน์ควรจะเพิกถอนแล้วออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดให้ประชาชนไปเลย เพื่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

       ที่ผ่านมมานโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาลจะจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชน ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนมาขับไล่หรือไล่จับประชาชน ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง ควรสนับสนุนให้ประชาชนได้มีที่ดินทำกินเพื่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจต่อไป
   //////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา  ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...