วันนี้ 4 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษต้องเร่งทำแผนและปฏิบัติการในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังจากพบว่าดำเนินการล่าช้า ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ และพบว่ามีมลพิษจำนวนมากไม่ถูกกำจัด โดยปัจจุบันไม่มีแผนที่จะดำเนินการฟื้นฟูต่อ
การดำเนินการที่ผ่านมาของกรมควบคุมมลพิษช่วงปี 2560-2563 ไม่ใช่การกำจัดมลพิษซึ่งเป็นของเสียอันตราย โดยต้องใช้บริษัทกำจัดมลพิษนำมลพิษเหล่านี้ออกไปสู่โรงงานกำจัดมลพิษ ซึ่งตั้งอยู่ภายนอก แล้วใช้ความร้อนสูงเพื่อให้มลพิษหมดไป จากนั้นจึงฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท แต่กรมควบคุมมลพิษกลับขนการย้ายมลพิษไปฝังกลบในป่าเหนือลำห้วยคลิตี้ และเอาไปฝังกลบไม่ถึง 1% ของมลพิษที่มีอยู่ทั้งหมด
นอกจากของเดิมที่ยังไม่มีการกำจัดเลยตามหลักวิชาการเพียงแต่ย้ายไปฝังกลบเพียงจำนวนเล็กน้อยแล้ว ยังพบกองกากหางแร่และดินปนเปื้อนมลพิษตามบริเวณใกล้บ้านของชาวบ้านอีก 5 จุด ซึ่งมีมลพิษรวมแล้วนับแสนตัน ที่ยังไม่มีการนำไปบำบัดให้ปราศจากมลพิษ บางแห่งมีเพียงการนำดินจากพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วมาปิดทับ ไม่ใช่ดินจากภายนอกที่ปราศจากมลพิษตะกั่ว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษาตั้งแต่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูสภาพลำห้วยห้วยคลิตี้ รวมทั้งตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ปัจจุบันผ่านไปกว่า 11 ปีแล้ว ค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ก็ยังเกินค่ามาตรฐาน สร้างความเดือดร้อนและความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว
โดยโรงแต่งแร่คลิตี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ปล่อยของเสียจากกิจการเหมืองแร่ตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง จนเป็นข่าวดังในปี 2541 กรมควบคุมมลพิษตรวจพบมีการปนเปื้อนของตะกั่วมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนลำห้วยคลิตี้ ลงมาถึงลำคลองงู และแม่น้ำแม่กลอง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขตรวจพบระดับตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้และหมู่บ้านใกล้เคียงสูงเกินค่ามาตรฐานจำนวนมาก นำมาสู่การเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษกำจัดมลพิษให้หมด แล้วไปเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากบริษัทผู้ก่อมลพิษในภายหลัง ”นายสุรพงษ์ กล่าว
////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์