8 พ.ค.67 เวลา 09.30 น.น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี นายพงษ์ศักดิ์ เขื่อนเก้า หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
และนายพรพิทักษ์ พลารักษ์ เจ้าพนักงานสัตวบาล อ.ท่าใหม่ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ลงพื้นที่ จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ควายไทย ณ
ฟาร์มอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จันทบุรี ชัย ชุมภู ของนายณัฐชัย คุมคณะ เลขที่ 98/18 ถ.เทศบาลสาย 8 ต.ท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ เลี้ยงควาย รวม 9 ตัว ในพื้นที่ 3 ไร่ เป็นแม่พันธุ์ 5
ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว ลูกควาย ควายรุ่น 3 ตัว ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ควายไทยสวยงาม ที่มีมูลค่าสูง ขยายพันธุ์โดยใช้แม่ควายไทยภายในฟาร์ม ผสมกับพ่อพันธุ์ควายสายเลือดดีที่ได้รางวัลแชมป์ในระดับประเทศ หรือผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อพ่อควายสายพันธุ์ดี อยู่ระหว่างการรับรองเป็นเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี กรมปศุสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตลูกและอนุรักษ์ ขยายกระบือสายพันธุ์ดีสู่เกษตรกรที่สนใจ กิจกรรมประกอบด้วย การพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ได้รับการรับรองระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM : Good Farming Management) การปรับปรุงพันธุ์ควายสายเลือดดีด้วยน้ำเชื้อของกรมปศุสัตว์ การตรวจสุขภาพสัตว์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การถ่ายพยาธิ การสาธิตการทำหยวกกล้วยหมัก เพื่อถนอมอาหารสัตว์และเก็บเป็นเสบียงอาหารสัตว์ไว้ใช้ในฤดูแล้ง การทำปุ๋ยโดยใช้มูลควายเป็นส่วนผสมหลักเพื่อนำมูลสัตว์มาใช้ประโยชน์ ลดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และการฝึกขี่ควาย เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางการเกษตรเชิงอนุรักษ์ พร้อ มนี้ ได้มอบแร่ธาตุก้อน เวชภัณฑ์ บำรุงสุขภาพสัตว์
สำหรับวันอนุรักษ์ควายไทย กำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มี.ค.60 ที่เห็นชอบให้วันที่ 14 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นครั้งแรก และเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกรให้ความสำคัญในการเลี้ยงและขยายพันธุ์ควายไทย เนื่องจากจำนวนควายมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญเนื่องจากเกษตรกรนิยมใช้รถไถนาแทนการใช้แรงงานควาย ขาดแคลนแรงงานเลี้ยงควาย รวมทั้ง พื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ
ชลาธร รัตตพลสกุล ผู้สื่อข่าวจันทบุรี