เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมงาน “EA ANYWHERE FUTURE BEGINS” โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ณ THE CRYSTAL DESIGN CENTER กรุงเทพฯ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการภาคธุรกิจและเอกชนทุก ๆ ราย ขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ กฟน. ในการทำหน้าที่เป็น “the MetGE : METRO GRID ENABLER” ที่พร้อมให้บริการเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเพียงพอต่อเนื่องปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และในโอกาส 60 ปี กฟน. จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้มหานครก้าวสู่วิถีอนาคต Smart Power, Smart Life, Smart Energy มุ่งสู่ Smart Metro
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 กฟน. เป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในกิจการ พร้อมวิจัยและพัฒนารวมทั้งผลักดันให้เกิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าขึ้นเป็นที่แรกในการไฟฟ้านครหลวงเขตต่าง ๆ จำนวนถึง 10 สถานี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กฟน. ที่จะเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล ที่มีความพร้อมในการควบคุมและจัดการระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต สำหรับการร่วมในงานฯ กับ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดวิวัฒนาการครั้งสำคัญหลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กันในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา และ EA ถือเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ กฟน. ให้ความร่วมมือพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station เพื่อร่วมกันขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึง กฟน. พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการภาคธุรกิจและเอกชนทุก ๆ ราย ที่ต้องการดำเนินธุรกิจดังกล่าวอย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ กฟน. ในการทำหน้าที่เป็น “the MetGE : METRO GRID ENABLER” โดยกำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา และอนุญาตการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้มีการใช้งานอย่างเพียงพอต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มพันธมิตรของบริษัทพลังงานมหานครมีความเชี่ยวชาญรวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและปลอดภัย ประกอบกับการสนับสนุนของ กฟน. คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชื่อมต่อ จ่ายระบบไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว 80 สถานี และเป้าหมายจะขยายให้บริการ 1,000 สถานี ทั่วประเทศในปี 2561 อีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของ กฟน. กับองค์กรภาคธุรกิจ ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการเดินหน้าให้บริการระบบไฟฟ้าสู่ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการของ กฟน. ดูแลจัดการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ รวดเร็ว มั่นคง ปลอดภัย เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทั่วประเทศ ที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้ รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กฟน. ได้วางแผนเตรียมระบบไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการที่สนใจและมีความพร้อมในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการ ส่วนด้านบริษัทพลังงานมหานคร จะดูแลด้านเทคโนโลยี ลงทุน และทำการตลาดเพื่อติดตั้งสถานีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ของเอกชนและพันธมิตรต่างๆ ภายใต้แนวคิด EA Anywhere Charging Station Powered by MEA
ปัจจุบัน กฟน. ได้ประกาศตัวเป็น “the MetGE : METRO GRID ENABLER” เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา และอนุญาตในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของ กฟน. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดย กฟน. มีแผนที่จะขับเคลื่อน Smart Super EV Multi Charging Port ตลอดจนการออกแบบการติดตั้งและพัฒนาแบตเตอรี่ให้สามารถอัดประจุไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกยี่ห้อ เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้บริการจากหัวอัดประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นที่แตกต่างกัน ตลอดจนการพัฒนา Smart Super EV Application เพื่อเป็นการต่อยอดจากบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ เช่น การค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดและมีหัวอัดประจุไฟฟ้าที่ว่างพร้อมให้บริการได้ทันที การจองหัวอัดประจุไฟฟ้าล่วงหน้า การชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบรับชำระทางมือถือ ตลอดจนการแสดงตำแหน่ง สถานะ และการวิเคราะห์พลังงานที่เหลือของรถยนต์ไฟฟ้าหรือระบบควบคุมรถยนต์ไฟฟ้าทางไกล เพื่อให้สามารถบังคับรถยนต์ได้โดยไม่ต้องขับด้วยตนเอง เป็นต้น