เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดนครปฐม นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย คณะกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดนครปฐม ประจำปี 2567 ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ชมรมแม่บ้านมหาดไทย และผู้แทนภาคเอกชน ร่วมพิจารณาคัดเลือกผ้าทอ ผ้าพิมพ์ลาย จากหน่วยงาน ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้าทั้ง 7 อำเภอ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครปฐม ส่งเข้าประกวด จำนวน 14 ราย ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย โดยพิจารณาให้คะแนนผ้า จากลวดลาย ความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนความเป็นภูมิปัญญาไทย มีรูปแบบ สีสันสวยงาม ตรงกับความต้องการของตลาด อีกทั้งมีเอกลักษณ์ตามคุณสมบัติของประเภทผ้าที่สะท้อนความเป็นภูมิปัญญาไทย มีความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากภูมิปัญญาไทย มีความสม่ำเสมอของสีและเนื้อผ้า สีไม่ตก ไม่ด่าง มีเอกลักษณ์ตามคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนโครงสร้าง ลวดลาย เนื้อผ้ามีความหนาแน่น สม่ำเสมอตลอดทั้งผืนผ้า ปราศจากตำหนิและรอยเปื้อน ริมผ้ามีความเรียบร้อยตลอดทั้งผืน และมีขนาด สัดส่วน เหมาะสมต่อการใช้งาน
สำหรับผลการประกวดสุดยอดผ้า ประจำปี 2567 อันดับที่ 1 ได้แก่ ผ้าไหม ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดีใหญ่ จากกองงานฝึกวิชาชีพทอผ้า เรือนจำกลางนครปฐม อันดับที่ 2 ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ต่อตีนจก จากกลุ่มผ้าทอศรีอุทุมพร ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง อันดับที่ 3 ได้แก่ ผ้ายกขิด ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดีเล็ก จากกองงานฝึกวิชาชีพทอผ้า เรือนจำกลางนครปฐม และ ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ย้อมสีธรรมชาติ จากกลุ่มทอผ้าวงเดือนผ้าจกไท-ยวน ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน
ในส่วนของผ้าลายปูรณฆฏาศรีทวารวดีใหญ่ ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ ให้เป็นสุดยอดผ้าจังหวัดนครปฐม ประจำปี 2567 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
"ปูรณฎาศรีทวารวดี" หมายถึง จังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณ ธัญญาหาร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีองค์ประกอบลายหลัก คือลายหม้อน้ำปูรณะฏะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงการกำเนิดชีวิตที่มีความสมบูรณ์ มั่งคั่ง โดยลวดลายดังกล่าวปรากฎอยู่บนเหรียญตราและประติมากรรมประตับบนโบราณวัตถุสมัยทวารวดี และมีลายประกอบ คือกวางหมอบ อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา ผสมกับลายเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์