ชัยภูมิ ขึ้นเดือน6ของทุกปีชาวบ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จัดสืบสานประเพณีแห่นาคโหด มายาวนานนับร้อยปีและมีหนึ่งเดียวในโลกซึ่งข้างขึ้นเดือน 6 ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม 2567
หลังชายหนุ่มในหมู่บ้านที่อายุครบ 20 ปี บริบูรณ์พร้อมเข้าร่วมบรรพชา ปีนี้มีจำนวน 8 รูป เริ่มจากในตอนเช้าจะเป็นการให้ผู้เป็นพ่อ และแม่ปลงผมให้ที่บ้านตัวเอง ในตอนบ่ายจะมารวมกันที่วัดตาแขกซึ่งเป็นวันประจำหมู่บ้าน เพื่อประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญนาค นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในงานบวชในครั้งนี้ พร้อมตีกลองเพลประจำวัดอย่างสุดแรง เพื่อให้กลองเพลนเสียงดังมากที่สุด เปิดการแห่นาคโหด มีชาวบ้านนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัด รวมถึงชาวต่างชาติ เดินทางไปรอชมและร่วมแห่ขบวนแห่นาคโหดคึกคักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จนแน่นบริเวณลานวัดตาแขก เลขที่ 333 บ้านโนนเสลา ต.หนอตูม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ปีนี้ต่างชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานสนุกสนาน ของการแห่นาคโหดของชาวบ้านโนนเสลา เริ่มตั้งแต่ทั้งบรรดาญาติ เพื่อนฝูงของนาคแต่ละนาค และนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัดขอร่วมแจมแห่นาคโหดด้วย ซึ่งเมื่อได้นำนาคแต่ละคน ขึ้นนั่งบนแคร่ที่มีคานหามและนาคจะถูกเซิ้ง(ถูกโยน)แห่ออกจากวัดตาแขก ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ตลอดเส้นทางของการแห่นาค มีทั้งโยก-โยน-ยก-เหวี่ยงคานหาม ไปตามจังหวะอันเร่าร้อนของดนตรีอีสานของรถแห่ โดยคนแห่นาคส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนกัน จึงมีทั้งโยก โยนนาคอย่างเต็มที่ แต่เมื่อขบวนแห่นาคโหดออกประตูวัดตาแขกได้เพียง 3 นาค ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ก็ดูจะไม่เป็นอุปสรรคของขบวนแห่นาคโหดแต่ละนาค ทั้งแห่ทั้งโยก ทั้งโยนนาคท่ามกลางสายฝน และสนุกสนานกับการเต้นออกสเต๊ปกันอย่างสนุกสนานหน้ารถแห่ กลางสายฝน เป็นที่ประทับใจกันทั้งคนหามและคนแห่ นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นบทหนึ่งในการทดสอบความอดทดของนาคหนุ่ม ซึ่งผู้ที่เคยได้ยินการเล่าขานถึงประเพณีการแห่นาคโหดจากที่ต่าง ๆ ต่างเดินทางมาชม และร่วมแห่ในขบวนแห่นาคโหดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่สร้างความสนุกสนานให้กับทั้งนาค เพื่อนนาค และนักท่องเที่ยว ที่ได้ร่วมในขบวนแห่นาคโหดไปรอบหมู่บ้านโนนเสลา แล้ววกกลับมาที่วัดตาแขก วัดประจำหมู่บ้าน เพื่อจะคอยร่วมในพิธีบรรพชาในวันรุ่ง
ประเพณีแห่นาคโหดของชาวบ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนเป็นตำนานของประเพณีการแห่นาคโหด เป็นการทดสอบความอดทดของลูกผู้ชาย ต้องมีความอดทน มีสติ ไม่ย่อท้อต่อปัญหา และความตั้งใจที่จะฝ่าด่านคานหามแห่นาคโหดเข้าไปให้ถึงวัด เพื่อเข้าพิธีบวช หรืออุปสมบท ทดแทนคุณบิดามารดาของตนเองให้ได้ ซึ่งการหามแห่นาครอบหมู่บ้าน จะหามนาคบนคานหามแคร่ไม้ไผ่ ญาติๆและเพื่อนฝูง จะโยก-โยน-ยก-เหวี่ยงคานหาม ให้นาคฝึกความแข็งแรง-ความอดกลั้น-ความอดทนของสภาพร่างกายจิตใจต่อสู้กับความทุกข์ทรมาน ที่เกิดจากการถูกแกล้ง ของบรรดาลูกหาบ ให้นาคได้ระลึกถึงพระคุณของบิดา-มารดา ที่ได้เลี้ยงดูจนเติบโต และตระหนักเห็นถึงความยาก-ความลำบาก ของผู้เป็นมารดา ที่ได้ตั้งท้องทะนุ-ถนอม มานานถึง 9 เดือน จนครบกำหนดและคลอดแล้ว ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ ได้ที่จะต้องประสบกับความทุกข์ทรมานนานนับประการ ทั้งการเข้ากระโจมกินนอนบนแคร่ไม้ไผ่ ที่มีการก่อไฟด้วยฟืนลุกไหม้ให้ความร้อนตลอดเวลา ให้มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ นาคที่ได้ผ่านการแห่นาคโหดและได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์สำเร็จ จึงเป็นความภาคภูมิใจของทุกๆคน ที่ได้มาร่วมงานบุญอันยิ่งใหญ่นี้ จนได้รับการเรียกขานจากบุคคลทั่วไปว่า "การแห่บวชนาคโหด" ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย หรือในโลก ที่ชาวบ้านโนนเสลาจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้เป็นประเพณีอันดีงามคงอยู่ตลอดไป
อธิวัฒน์ เตียเจริญภักดี
จังหวัดชัยภูมิรายงาน