วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพร้อมเจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดกระบี่ลงไปหมู่บ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงพื้นที่บ้านชายฝั่งทะเลจังหวัดกระบี่เพื่อขอความร่วมมือและทำความเข้าใจกับชาวประมงพื้นบ้านเรื่องการช่วยชีวิตพะยูน หากพะยูนติดเครื่องมือทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้าน หลังจากพบว่ามีการพบพะยูนเสียชีวิตมากขึ้นในระยะนี้ในจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันและมีแนวโน้มว่าพะยูนจะเสียชีวิตมากขึ้นอีก
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาพบว่ามีพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์เสียชีวิตถึง 3 ตัว สายเหตุมาจากติดอวนของชาวประมง และอีก 1 ตัวถูกใบพัดเรือจนเสียชีวิต พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่เฝ้าระวังสร้างความเข้าใจกับประชาชน สำหรับสาเหตุหลักก็คือ แหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะมุก เกาะลิบง จังหวัดตรัง ตายเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 50 เนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้ประชากรพะยูนมีการแพร่กระจายอพยพไปหากินบริเวณอื่น ทั้งมาตอนเหนือพื้นที่จังหวัดกระบี่และลงใต้ไปที่อ่าวพังงา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังมีหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ จึงให้พะยูนเหล่านั้นเสี่ยงที่ติดกับเครื่องทำการประมงและถูกเรือชน ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาพิสูจน์ให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นจริง
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ได้คุยกับชาวประมงในเรื่องของการระมัดระวังในการใช้เครื่องมือทำการประมง ส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติก็ขอความร่วมมือผู้ใช้เรือให้ชะลอความเร็ว หากเข้าไปในพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลหรือให้กรมอุทยานแห่งชาติฯประกาศเรื่องกำหนดความเร็วของเรือ ซึ่งอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรพะยูนมายังพื้นที่จังหวัดกระบี่และอ่าวพังงามากขึ้น เท่าที่สำรวจในประเทศไทยมีประชากรพะยูนอยู่เพียง 280 กว่าตัวเท่านั้น
“ในช่วง 5-10 ปีผ่านมา ประชากรพะยูนในประเทศไทยมีประมาณ 280 กว่าตัว เพิ่มขึ้นจากเดิม 20 ตัว แต่ในปีหนี้เกิดภาวะโลกร้อนอากาศแปรปรวนพื้นที่หญ้าทะเลลดลง ประชากรพะยูนขาดอาหารมีการแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปีพะยูนเสียชีวิตไปแล้วร้อยละ 7 หรือประมาณ 20 ตัว ในฝั่งทะเลอันดามันมีอยู่ประมาณ 200 ตัว และเสียชีวิตประมาณ 10 กว่าตัว ซึ่งต่อไปนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการอนุรักษ์ประชากรพะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากทะเลไทย”
กระบี่/0936161469