รมช.พณ. นภินทร ประธานร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 กับ นายนัมเกล ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงาน ประธานร่วมฝ่ายภูฏาน โดยมีข้อเสนอให้ทั้งสองประเทศช่วยสนับสนุนระหว่างกันในด้านการส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมทางการเกษตร ส่งเสริมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และการลงทุนในโครงการใหญ่ของภูฏาน
โดยรมช.พณ. ประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏานอย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน ลดอุปสรรคกีดกันการค้า ขยายโอกาสและอำนวยความสะดวกทางการค้าและจะมีส่วนขับเคลื่อนการค้า ให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่มูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน ว่า “ในการประชุม JTC ไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 ในวันนี้ผมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยซึ่งเป็นประธานร่วมกับ นายนัมเกล ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงาน ประธานร่วมฝ่ายภูฏาน หัวหน้าคณะผู้แทนภูฏาน โดยในการประชุม ทั้งไทยและภูฏานได้หารือในประเด็นทางการค้าในด้านต่าง ๆ ดังนี้
•การส่งออกสินค้าเกษตร โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนภูฏานเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่ภูฏานสามารถส่งมายังไทยได้ โดยจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ที่ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภูฏานแนบมาพร้อมสินค้า เช่น แอปเปิ้ล ส้ม มันฝรั่ง น้ำผึ้ง ควินัว หน่อไม้ฝรั่ง เมล็ดบัคหวีต ถั่งเช่า ขิง และเห็ด โดยไทยจะถ่ายทอดความรู้ด้านพัฒนาสินค้าและการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ในส่วนของจัดทำข้อกำหนดการนำเข้าด้านสุขอนามัยพืชสำหรับแอปเปิ้ลจากภูฏาน ขอให้ส่งข้อมูลให้กับไทยโดยเร็ว เพื่อเร่งรัดกระบวนการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับแอปเปิ้ล สำหรับสินค้าน้ำผึ้ง ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแบบสอบถาม (Questionnaire) เพื่อประเมินความเสี่ยงสำหรับการนำเข้าสินค้าน้ำผึ้ง
•อุตสาหกรรมเกษตร ภูฏานมีการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จึงอาจเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเข้าไปลงทุนพัฒนาเกษตรกรรมในภูฏาน
•ขณะนี้ภูฏานกำลังจัดทำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แห่งชาติ โดยผมยินดีมอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ร่วมแบ่งเป็นองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่ภูฏานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการขึ้นทะเบียน GI ให้กับสินค้าชุมชนที่ภูฏานสนใจ เช่น น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง และถังเช่า เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า
•ด้านท่องเที่ยว ไทยและภูฏานได้มีการต่ออายุ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการท่องเที่ยวภูฏาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา (Buddhist Tourism) การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน (Community-based Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness) ภายใต้แนวคิด “2 ราชอาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” อันจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสการลงทุนของนักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ธุรกิจสปา และร้านอาหารไทย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมระดับ High-end ที่ภูฏานมีความต้องการเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco Tourism) เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตกที่มีกำลังซื้อสูง
•โครงการ Smartcity ที่ภูฏานได้ประกาศเปิดโครงการก่อสร้าง Gelephu Mindfulness City (เกเลฟู มายฟูลเนส ซิตี้) ซึ่งจะเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของภูฏาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ติดกับประเทศอินเดีย โดยมีแผนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเป็นประตูสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูฏาน มีแผนที่จะสร้างท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งใหม่ โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และเส้นทางคมนาคม ซึ่งเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพและความสนใจในภูฏานเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว“
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ของไทย ได้ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมร่วมกับกรมการสื่อสาร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะช่วยให้ไทยและภูฏาน ส่งเสริมงานฝีมือของทั้งสองประเทศ โดยสองฝ่ายจะกำหนดแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างศักยภาพ และสร้างเป้าหมายการพัฒนาเพื่อส่งเสริมงานฝีมือของทั้งสองฝ่าย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือเป็นระยะเวลา 5 ปี
นายนภินทร กล่าวอีกว่า “ผมได้เชิญภูฏานเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย อาทิ งาน THAIFEX Anuga Asia 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 และงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของเอเชีย ในวันที่ 9-13 กันยายน 2567 โดยผมได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา บังกลาเทศ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมภูฏานช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจภูฏานที่สนใจ”
ต่อมา นายนภินทรฯ ได้กล่าวเปิดการเจรจาตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏานอย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดเสรีทางการค้าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งการสานต่อปฏิสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐและเอกชนระหว่างกันจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการค้า
”โดยผมมีความตั้งใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดการเจรจา FTA ไทย ภูฏาน โดยขอเร่งรัดให้มีการเจรจา FTA ดังกล่าว เพื่อให้มีผลโดยเร็ว ซึ่งการเจรจารอบแรก ภูฏานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายไทยร่วมเจรจา และในส่วนการประชุม JTC ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 6) ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมโดยขอเชิญรัฐมนตรีภูฏานเยือนประเทศไทยในปีหน้า” นายนภินทร กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และเนปาล ตามลำดับ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปภูฏาน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน รถกระบะ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปังกรอบ เส้นพาสต้า ผลไม้อบแห้ง หม้อหุงข้าว ถ้วยชามเซรามิก แชมพู และยางรถยนต์ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากภูฏาน เช่น ยางสำหรับอากาศยาน ถังเช่า ผลิตภัณฑ์ทองแดง และสารเคมีที่ใช่ในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น