วันที่ 20 พฤษภาคม 2567
ที่ศาลเจ่าปู่คำแฮด บ้านคำบิด ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร และ นายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ร่วมงานเลี้ยงผีปู่ตา เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข โดยมีชาวบ้านร่วมงานเป็นจำนวนมาก การเลี้ยงผีปู่ตา เป็นประเพณีความเชื่อของชาวอีสาน ที่มีความเกี่ยวพันธ์ต่อเนื่องกัน กล่าวคือก่อนจะมีการทำบุญซำฮะนั้นก็จะต้องมีการเลี้ยงผีปู่ตาเสียก่อนในช่วงเดือน 6 เดือน 7 ทั้งสองประเพณีนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาน ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่าผี ความเชื่อเรื่องผีในสังคมท้องถิ่นของชาวอีสานมีอยู่อย่างแพร่หลายมีทั้งผีที่ร้ายและผีที่ดี ตัวอย่างของผีที่ร้ายก็ เช่น ปอบ กระสือ ซึ่งผู้คนกลัวและหาทางกำจัด ส่วนผีอีกประเภทคือผีดีนั้นผู้คนให้ความเครพนับถือกราบไหว้บูชา เช่น ผีปู่ตา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือผีบ้านผีเรือน ที่มีความเชื่อว่าคอยปกป้องให้ความคุ้มครองคนในชุมชนนั้นๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพนธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อันเป็นผลให้เกิดประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผีคือประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะขึ้นผีปู่ตา
ในอดีต แทบทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมี “ดอนปู่ตา” ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน โดยมีความเชื่อว่าดอนปู่ตาเป็นที่อยู่อาศัยของผีบรรพบุรุษของหมู่บ้าน ปู่ตา หมายถึง วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ปู่เป็นวิญาณทางพ่อ ตา เป็นวิญญาณทางแม่ คนในชุมชน จึงปลูก ตูบ หรือ หอ ให้ผีปู่ตาอาศัยซึ่งอาจจะมีรูปปั้นแทนหรือไม่มีก็ได้ โดยถือว่าเป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะรุกล้ำหรือตัดต้นไม้แสดงวาจาหยาบคาย ไม่ได้ ดังนั้น ดอนปู่ตา จึงเป็นกลายเป็นป่าขนาดเล็กๆ และเป็นพื้นที่ป่าสงวนของคนในชุมชนไปในตัว ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา คนอีสานมีความเชื่อเรื่องผีปู่ตามานานแล้วถือว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ความเชื่อดังกล่าวได้หยั่งลึกลงไปจิตสำนึกของลูกหลานในชุมชน และถือปฏิบัติติดต่ออย่างเคร่งครัดตลอดมา ผีปู่ตาเป็นผู้รักษาหมู่บ้านให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งยังมีการบ๋าหรือขอพรในกรณีต่างๆ ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่มาบ๋าจะมีตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงผู้สูงอายุทุกเพศทุกวัย การบนบานจะมีหลายอย่างเช่น การขอพรให้ตนเองประสบความสำเร็จในด้านการเรียน ค้าขาย หรือในการเดินทาง โดยหากสิ่งที่ตนเองบนนั้นประสบความสำเร็จ ก็จะมีการแก้บนตามที่ได้กล่าวไว้ เช่น การบนด้วยหัวหมู เป็ด ไก่ น้ำแดงหรือเหล้า หากเป็นเรื่องใหญ่ก็อาจจะถึงขึ้นมีการแสดงงมโหรสรรพ เช่น หมอลำ หรือภาพยนตร์ เลยทีเดียว
นอกจากนี้ในทุกๆเดือน 6 (พฤษภาคม) จะมีการทำบุญเลี้ยงผีปู่ตาเป็นประจำทุกปี โดยพิธีกรรมทั้งหมด ตั้งแต่การบ๋าหรือการเซ่นไหว้ต่างๆต้องผ่าน เฒ่าจ้ำหรือกระจ้ำ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อทางจิตกับผีปู่ตา ในกรณีที่มีคนในชุมชนทำในสิ่งที่สมควรผีปู่ตาจะแสดงให้เห็นโดยการไปสิง หรือเข้าเฒ่าจ้ำ เฒ่าจ้ำจะมีอาการสั่นแล้วพูดอะไรออกมาชัดเจนว่าใครทำอะไรผิดผีปู่ตา ให้รีบแก้ไขโดยการนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปบอกกล่าวเพื่อขอขมาผีปู่ตา หลังเสร็จพิธีดังกล่าวชาวบ้านก็จะแบ่งข้าวปลาอาหารไปกินเพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากการทำพิธีเลี้ยงปู่ตาเสร็จจะมีการเสี่ยงทายฟ้าฝนขึ้น ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนเช่นการจุดบั้งไฟ ถอดคางไก่ และแทกวัดไม้วา เป็นต้น บางแห่งก็จัดเป็น 3 ชุดคือ เสี่ยงฝน เสี่ยงคน และเสียงควาย/สัตว์เลี้ยงซึ่งในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไป
///////////////// วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร 0819541528