นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) และนกชนหิน หรือนกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามลำดับ และ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีท้าย กฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ทำให้จำนวนสัตว์ป่าคุ้มครอง จากเดิมจำนวน 1,316 รายการ คงเหลือ 1,306 รายการ โดยแบ่งเป็น 2 บัญชี ดังนี้ บัญชี 1 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ ได้แก่ (1) จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 176 รายการ (2) จำพวกนก จำนวน 948 รายการ (3) จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 68 รายการ (4) จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 4 รายการ (5) จำพวกแมลง จำนวน 20 รายการ บัญชี 2 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ ได้แก่ (1) จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 21 รายการ (2) จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 20 รายการ (3) จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 6 รายการ (4) จำพวกปลา จำนวน 30 รายการ (5) จำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำนวน 13 รายการ รวมทั้ง เพิ่มรายการ จำนวน 8 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ ดังนี้ (1) ค่างตะนาวศรี (Trachypithecus barbei) (2) งูหางแฮ่มกาญจน์ (Trimeresurus kanburiensis) (3) ปลากระเบนปีศาจหางเคียว (Mobula tarapacana) (4) ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) (5) ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) (6) ปลาฉลามหัวค้อนเรียบ (Sphyrna zygaena) (7) ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) (8) ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna mokarran)