นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร. เดินหน้าขับเคลื่อนการทำเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง ภายใต้กรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดและกฎหมายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน อีกทั้งยังมีมาตรการในการกำกับดูแลและกำหนดให้ขั้นตอนการทำเหมืองแร่ต้องจัดทำแผนการฟื้นฟูเหมืองภายหลังการปิดเหมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมว่า เมื่อเหมืองปิดตัวลงจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย แต่สามารถพัฒนาพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนได้ อาทิ พื้นที่สวนสาธารณะ แหล่งเก็บกักน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ กพร. ยังชูต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วเพื่อกลับมาใช้ในสาธารณประโยชน์ เช่น บริเวณทะเลสาบบ้านหมอ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคที่ดินให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองขีดขิน เข้ามาบริหารจัดการดูแล ซึ่งมีการปรับปรุงบ่อดินเป็นแหล่งเก็บน้ำ เป็นแก้มลิงบ่อมีขนาดรวม 3,122 ไร่ และพื้นที่ในการปลูกป่า มีการจัดทำศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร ที่เอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิง สร้างพลังงานทดแทนสามารถผลิตพลังงานจากขยะเฉลี่ย 20 ตันใน 6 วันทำการ รวมทั้งยังมีการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน อาทิเช่น หอดูดาวหรือท้องฟ้าจำลอง เป็นพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ อีกทั้งยังมีพื้นที่ตัวอย่างอีกหนึ่งแห่ง คือ เหมืองหินของบริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) มีพื้นที่ราว 300 ไร่ ในส่วนของบ่อเหมืองที่มีการขุดลึกลงไปแล้ว 27 เมตร และมีการฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบไปควบคู่กัน ซึ่งหลังจากหยุดดำเนินการสามารถใช้พื้นที่เป็นแหล่งสำรองน้ำ และกักเก็บน้ำให้ชุมชน
ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวนับเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างมาก