วันนี้ (25 พ.ค. 2567) เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน และนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล และนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางกรรณิกา กองฉลาด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายไพโรจน์ โสภาพร นายคมกริช ชินชนะ นายสุรพล แก้วอินธิ นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ เลขานุการกรมการพัฒนาชุมชน คณะพัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ภาคี เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมอบรม ร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ทั้งยังพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้สามารถจำหน่ายได้ในตลาดสากล กำหนดดำเนินการ 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 – 3 ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดน่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว) และจุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดขอนแก่น จุดดำเนินการละ 50 คน สำหรับกลุ่มเป้าหมายในวันนี้ประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าทั่วประเทศ และงานหัตถกรรม ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะเข้ารับการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมที่จะส่งเข้าร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมในระดับภาค และระดับประเทศ ต่อไป
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เผยว่า จังหวัดขอนแก่น ได้รับโอกาสในการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการศึกษาและเทคโนโลยีของภูมิภาค ผ้าไหมและผ้าทอมือของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงวิถีชีวิตของชาวอีสานที่สามารถสร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนในภูมิภาค ถ่ายทอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาผ่านเส้นใยไหมจนเป็นผืนผ้า ชิ้นงาม โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับการรับรองจากสภาหัตถกรรมโลกให้เป็น เมืองหัตถกรรมโลก แห่งผ้ามัดหมี่ (WCC-Word Craft City for Ikat (Mudmee) ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน อันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ลงทะเบียน จำนวน 3,210 ราย 6,558 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการประเภทผ้าเครื่องแต่งกายและงานหัตถกรรม จำนวน 1,894 กลุ่ม ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ตุลาคม 2566 - พฤษภาคม 2567) มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทผ้าและเครื่องกาย จำนวน 2,039,927,280 บาท (สองพันสามสิบเก้าล้านเก้าแสนสองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยแปดสิบบาทถ้วน)
ด้านนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี และพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศและทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบายว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาผู้มีกตเวทิตาคุณต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระราชบุพการี ด้วยทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจเสด็จไปทรงงานในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมพระราชทานความรู้ คำแนะนำ เพื่อธำรงรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ที่สะท้อนผ่านงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมไทย ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกใบเดียวนี้ อันเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันสื่อสาร และต่อยอดด้วยการมี "ทายาท" ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลาน แต่เป็นใครก็ได้ อาจเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันหรืออำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกันก็ได้ หรือชนชาติใดก็ได้ เพื่อให้เขามารับเอาสิ่งที่ดี ปลูกฝังให้เขารับเอาวิชาที่เขาสามารถทำได้ จึงเป็นที่มาของเครื่องหมายพระราชทาน Sustainable Fashion รับรองผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการการันตีว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเสียขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น งานผ้าหรืองานหัตถกรรมทุกชนิดจึงต้องใช้สีธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติ และยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือ "การพึ่งพาตนเอง" ดังที่ทรงสนับสนุนให้พวกเราพยายามใช้สีธรรมชาติ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย แลกเปลี่ยนวัสดุซึ่งกันและกันในประเทศ โดยไม่ใช้วัสดุจากโรงงาน กระบวนการแปรรูปทางเคมี รวมทั้งกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เพราะกระบวนการเหล่านี้ มันปลดปล่อยสิ่งที่เราเรียกว่า “ยาพิษ” ให้กับโลก
ในการนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรมแต่ละท่าน จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา ตลอดจนกลยุทธ์ทางการจัดจำหน่าย ได้แก่ 1. ดร. ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และสื่อสารการศึกษา 2. นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ 3. นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ THEATRE 4. ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 6. ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 7. นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบ Workshop ประกอบด้วย 1. เทคนิคการจับคู่สีตามเทรนด์บุ๊ค (Thai Texiles Trend Book) 2. เทคนิคการออกแบบลายพระราชทาน 3. เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้เส้นใยและวัสดุจากธรรมชาติ 4. สาธิตการย้อมสีธรรมชาติ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 5. กลยุทธ์ทางการตลาด และการจำหน่าย (Marketing & Sale) และ 6. การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นแฟชั่นและร่วมสมัย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมที่จะส่งเข้าร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ในระดับภาค และระดับประเทศ ต่อไป นอกจากนี้ ความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ ที่ได้รับในโครงการ ยังสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย