วันนี้ (30 พ.ค.67) เวลา 09.00 น.ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม เข้าร่วมพิธี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติ ทรงโปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาศึกษา ทรงโปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกชื่อว่า "พระไตรปิฎกสยามรัฐ" และทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย มาจนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี
หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสยุโรปเพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่างๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการและทรงพิจารณาแล้วว่าไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาลเพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนื่อง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลนามัยของพระองค์ไม่ทรงแข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
กระทั่งเมื่อ 30 พฤษภาคม 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯสู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้าจึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่าสมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
สมพงษ์ ปานรุ่ง สระบุรี