ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ตม.รวบหนุ่มผิวสีหลบหนีเข้าเมือง ลักลอบทำงานโรงแรม
05 มิ.ย. 2567

   พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของ สตม. โดยสั่งการและกำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมาย  โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่รับผิดชอบงานสืบสวน X-RAY พื้นที่เสี่ยงโดย กก.สืบสวน บก.ตม.1
   พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับเบาะแสจากนักท่องเที่ยวว่า มีคนต่างด้าวผิวสี ไม่ทราบสัญชาติ ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับโรงแรมระดับ 1-2 ดาว ในซอยย่านพระโขนง โดยมีพฤติกรรมมักเรียกราคาค่าห้อง สูงกว่าอัตราที่ติดประกาศไว้ เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะหากพบว่าลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ


 

  ต่อมาในวันที่ 4 มิ.ย. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สังกัด กก.สืบสวน บก.ตม.1 นำโดย พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 จึงได้วางแผนปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวลากกระเป๋าเข้าไปติดต่อขอเช่าห้องพักเป็นภาษาอังกฤษ พบชายชาวแอฟริกันผิวสี ทราบชื่อภายหลังว่าคือ นายไมเคิล (นามสมมติ) รูปร่างสูงใหญ่นั่งอยู่หลังเคาน์เตอร์ สอบถามราคาห้องพัก นายไมเคิล แจ้งว่า 500 บาท ซึ่งราคาที่แจ้งไว้ในหน้าเว็บไซต์คือ 300 บาท และขอให้ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จ่ายเงินเรียบร้อย จึงแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขอตรวจสอบหนังสือเดินทาง แต่นายไมเคิล กลับมีท่าทีค่อยๆเดินถอยหนีและพอสบโอกาสก็พยายามวิ่งหนีออกทางหลังโรงแรม แต่เจ้าหน้าที่ ซึ่งระวังตัวอยู่แล้วจึงวิ่งติดตามไปจับกุมได้ทันควัน ผลจากการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดในระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมืองและตรวจสอบระบบไบโอเมตริกซ์ จากใบหน้าและลายพิมพ์นิ้วมือ ไม่พบข้อมูล เมื่อสอบถามนายไมเคิล รับว่า ตนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยช่วงปี 2564 หลังวิกฤตโควิด–19 และได้โดยสารรถจากมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะมาทำงานที่โรงแรมดังกล่าว เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยรับเงินเดือนเพียง 3,000-4,000 บาท แต่นายจ้างให้ที่พักอาศัยฟรี จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำพฤติกรรมดังกล่าว

   เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่า “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” และ “เป็นบุคคลต่างด้าว ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน” พร้อมทั้งได้กล่าวโทษคนไทยซึ่งเป็นนายจ้าง ที่เจ้าหน้าที่ไม่พบตัวในที่เกิดเหตุในข้อหา “ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายพ้นจากการถูกจับกุมและรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่คนต่างด้าวนั้น ไม่มีใบอนุญาตทำงาน” พร้อมควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดี ก่อนจะผลักดันออกนอกราชอาณาจักรกลับประเทศต้นทางต่อไป
   สตม.ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทุกท่านทราบว่า บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตน ซึ่ง สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขันและปราบปราม คนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง หมายเลขโทรศัพท์ 1178 จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...