นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่ากรณีที่มีการร้องเรียนค่ารักษาพยาบาลเอกชนมีราคาสูงมาก โดยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงของสถานพยาบาลเอกชนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการสนองตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน กรมบัญชีกลาง สมาคมประกันชีวิต เป็นต้น
ซึ่งการดำเนินการในระยะต้นนี้ มีความคืบหน้า โดยกรม สบส. ได้รวบรวมอัตราค่าผ่าตัดรักษาโรคที่พบบ่อย ซึ่งเป็นราคาโดยประมาณของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทุกภาค เป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชน รวม 86 รายการ เผยแพร่ทางเว็บไซต์กลางคือ www.hospitalprice.org ซึ่งถือว่าเป็นโรคจำเป็นและป่วยกันมาก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้บริการได้ศึกษาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า อัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งแตกต่างกัน อาทิ การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม ราคาตั้งแต่ 50,000-300,000 บาท การผ่าตัดต้อหินอัตราตั้งแต่ 15,000 -90,000 บาทการผ่าตัดลิ้นหัวใจแบบเปิดอัตราตั้งแต่ 250,000 - 1 ล้านกว่าบาท เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวันนอน เวชภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มเติม หรือภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย
โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดกับโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โรงพยาบาลจะต้องแสดงอัตราค่ารักษาสำหรับเว็บไซต์กลางที่ให้ข้อมูลนี้ ได้เปิดให้บริการมา 5 เดือนแล้ว มีประชาชนเข้าชมประมาณ 10,000 ครั้ง นอกจากจะแสดงอัตราค่ารักษาแล้ว ยังให้ความรู้ คำแนะนำ แนวทางการรักษาโรคต่างๆแก่ประชาชนด้วย เช่น โรคตาต้อกระจก โรคข้อเข่าเสื่อม การผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านทางกล้อง และเปิดรับข้อเสนอแนะ หรือข้อมูลการแก้ไขค่ารักษาพยาบาลแพงได้ด้วย โดยกรมสบส. จะรวบรวมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ซึ่งมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน เพื่อให้ได้มาตรการแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาวอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้กรม สบส. ยังได้เปิดสายด่วนรับร้องเรียนเรื่องค่ารักษาแพง ทางหมายเลข 02 193 7999 ตลอด 24 ชั่วโมง ในปีงบประมาณ 2558 ได้รับแจ้งรวม 58 ราย ประกอบด้วยในพื้นที่ กทม. 38 ราย ที่เหลือจากต่างจังหวัด ส่วนในปีงบประมาณ 2559 ได้รับแจ้งแล้ว 8 ราย โดยจะนำเข้าที่ประชุมในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตามขณะนี้กรม สบส. ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม วางแผน และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของการปิดป้ายราคายาทุกชนิดจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ และจะรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ดังกล่าวต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาการดำเนินการต่อไป