กาญจนบุรี - ปฏิบัติการความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยรักษาแม่พังสร้อยทอง พังแม่ลูกอ่อน ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการ ปวด บวม อักเสบที่แก้มซ้าย กินอาหารไม่ได้ และไม่สามารถให้นมลูกได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรัชสิต จงจรัสพร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือถึง คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิพิทักษ์คชสาร วัดเวฬุวัน โดย หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ ประชาชนชุมชน ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อวางแผนทำการรักษา ช้างแม่พังสร้อย ที่มีอาการบาดเจ็บบริเวณปากข้างซ้ายฟันล่าง ทนเจ็บมาประมาณหนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมา ไม่สามารถให้นมลูกช้างเพศผู้ของตัวเองได้
เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ทีมสัตวแพทย์ รักษาช้างป่าป่วย (แก้มบวม)
เรียน ผส.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้พบข้างป่าเพศเมียป่วย มีลักษณะบวมบริเวณแก้มซ้าย ผอม ยืนน้ำลายไหล กินอาหารลำบาก บริเวณแปลงปลูกป่าองค์การอุตสาหกรรมบ่าไม้ บ้านไร่ป้า ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
ขอเรียนว่า ได้ประสานส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสุขภาพและคลินิกสัตว์ป่าเข้าดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ ประเมินอาการ และทำการ รักษา พบว่าช้างป่ามีอาการบวมของแก้มลดลง มีลักษณะนิ่มขึ้นย้อยตัวลงบริเวณใกล้คาง ไม่มีของเหลวเช่นหนอง หรือน้ำลายไหล ออกจากปาก มีความร่าเริง สนใจสิ่งแวดล้อม กินอาหารจำพวก ใบไม้ ใบไผ่ใบกล้วย ต้นหญ้า และลูกส้าน จากการรักษาโดยการฉีดยา พบว่าทำให้การอักเสบ บวม ลดลงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถทำให้แก้มยุบลงจนเป็นปกติได้ จึงขอความอนุเคราะห์ทีมสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการบวมดังกล่าว และเพื่อวางแนวทางในการรักษาข้างป่าในวันที่ 8-9มิถุนายน2567
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากสมาชิก กลุ่มรักษ์ช้างทองผาภูมิ กล่าวว่าช้างแม่พังสร้อยทอง ช้างเพศเมีย อายุประมาณ 15 ปี ตั้งแต่เกิดช้างแม่พังสร้อยทองชอบหาเถาวัลย์เพื่อมาคล้องลำคอตัวเอง ทำให้ชาวบ้านได้ตั้งชื่อว่า ช้างแม่พังสร้อยทอง เมื่อสองปีที่ผ่านมาได้ให้กำเนิด ลูกช้างเพศผู้ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ช้างแม่พังสร้อยทอง ใช้ชีวิตทั่วไปแบบช้างตัวอื่น หลังจากช้างแม่พังสร้อยทองมีอาการปวดฟันล่าง ข้างซ้าย ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ และมีอาการหงุดหงิดบ่อยครั้ง ชอบออกนอกฝูงช้าง เข้ามาในชุมชนหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้เกิดเกรงกลัวจะมาทำร้ายชาวบ้าน จึงได้หาแนวทาง คนกลับช้างอยู่ร่วมกัน
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์