ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
มหาดไทย ปลุกเร้าผู้นำอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน
08 มิ.ย. 2567

ปลัดมหาดไทย ปลุกเร้าผู้นำพื้นที่อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกันเสริมสร้างความรักความสามัคคี ช่วยกันดูแลสมาชิกในหมู่บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ปลัดมหาดไทย ปลุกเร้าผู้นำพื้นที่อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกันเสริมสร้างความรักความสามัคคี ช่วยกันดูแลสมาชิกในหมู่บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
 ที่ศูนย์เรียนรู้ย้อมสีธรรมชาติครบวงจรกลุ่มทอผ้าไหมโบราณบ้านนาตัง ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการบ้านยั่งยืน (Sustainable Village) กลุ่มทอผ้าไหมโบราณบ้านนาตัง โดยมี นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นายธนันญ์บุณย์ เพชรประไพ นายอำเภอเขวาสินรินทร์ นางนงเยาว์ ทรงวิชา ประธานกลุ่มทอผ้าไหมโบราณบ้านนาตัง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนพบปะให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราทุกคน ผู้มีใจที่รุกรบในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี มุ่ง Change for Good ด้วยความรัก ความสามัคคี ที่เพิ่มพูนมากขึ้น เพราะประเทศชาติของเรา เรื่องสำคัญ คือ คนในชาติต้องมีความรักสามัคคี บ้านเมืองจึงสงบสุข

"จากการพบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวสุรินทร์ในวันนี้ ทำให้เห็นว่าทุกชุมชนเต็มไปด้วยความรักความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นในวันนี้ยังได้มาเจอลุงแก้ว บุตรชาติ ปูชนียบุคคลของประเทศไทยผู้มีชาติภูมิเป็นชาวสุรินทร์ ที่มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการได้รับพระมหากรุณาธิคุณและความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ดูแล "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวมนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ์ประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า" พระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งปัจจุบันลุงแก้วท่านเป็นที่ปรึกษาโรงช้างต้น การเดินทางมาปฏิบัติราชการที่จังหวัดสุรินทร์ในวันนี้จึงทำให้ได้มาเยี่ยมเยียนท่าน พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้ใหญ่บ้าน โดยช่วงที่ลุงแก้วได้พบปะกับคณะนั้น พบว่ามีคนรุ่นใหม่หลายท่านให้ความสนใจที่จะเรียนรู้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านคชศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาส่งเสริมยิ่ง เพราะประสบการณ์ ความรู้เหล่านี้ หาบุคคลที่มีความรู้จริง รู้ลึก อย่างถ่องแท้ยากยิ่งนัก จึงอยากให้พวกเราช่วยกันรักษาสิ่งที่ดีอย่างที่เป็นอยู่ที่สุรินทร์ให้คงอยู่ต่อไปและถ่ายทอดให้กับลูกหลาน ด้วยการพูดคุย สนทนา บอกเล่า เพื่อให้สิ่งที่ดีคงอยู่อย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทย น้อมนำพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" ซึ่งการที่ประเทศชาติจะมั่นคงและประชาชนมีความสุขได้ ประชาชนทุกคนต้องมีความรักความสามัคคี และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สืบสานพระราชปณิธานและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญที่สุด คือ การช่วยกัน "แก้ไขในสิ่งผิด" ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร เมื่อ 30 มิถุนายน 2563 ที่เราได้เชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ความว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" พระองค์ท่านได้พระราชทานเน้นย้ำในเรื่องแก้ไขในสิ่งผิด โดยเฉพาะเรื่องความรักความสามัคคี และร่วมสืบทอดสิ่งที่ดีงามของบรรพบุรุษ เช่นเดียวกันกับการเป็นจิตอาสา ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน และโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เพื่อให้เราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ด้วยการทำความดี ด้วยหัวใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ดังพระปฐมบรมราชโองการ ที่พระราชทาน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พี่น้องชาวสุรินทร์ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พวกเราสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อสนองพระราชปณิธาน "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" ด้วยการทำให้หมู่บ้านของพวกเราเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ "ตัวผู้นำและทีมงาน" ทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ต้องช่วยกันสนับสนุนบทบาทของผู้นำคุ้มบ้าน และคณะกรรมการคุ้ม นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ขอความเมตตาไปยังมหาเถรสมาคม โดยให้เจ้าคณะผู้ปกครองได้โปรดเมตตากำหนดพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบประจำตำบล เพื่อเป็นทีมให้กับนายอำเภอช่วยทำภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข หลอมรวมความรัก นำความเอื้ออาทร ความปรารถนาดี เกื้อกูลกลับมาเป็นชีวิตของพวกเราเฉกเช่นบรรพบุรุษของพวกเรา โดยในส่วนของคุ้มบ้านนั้น ต้องชื่นชมชาวตำบลเขวาสินรินทร์ ที่มีการแบ่งการดูแลสมาชิกในชุมชนรูปแบบคุ้มอย่างชัดเจนและเข้มแข็งทั้ง 4 คุ้ม ได้แก่ คุ้มศรัทธาธรรม นำสามัคคี ศรีประชา และบูราสันติ จึงขอให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นทุกอาทิตย์ทุกเดือน เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม ได้พบปะพูดคุยสารทุกข์สุขดิบ เพื่อให้คนในกลุ่มได้ช่วยเหลือกันแบบมีจิตอาสา ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ ดังพุทธศาสนสุภาษิต "วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง"

"ขอให้ผู้นำท้องที่ได้นำพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" ในทุกครัวเรือน และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการขับเคลื่อนให้ทุกหมู่บ้านเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ควบคู่พระดำริ "แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion)" ด้วยการขยายผล ถ่ายทอดวิธีการย้อมผ้าโดยใช้สีธรรมชาติ ใช้วัตถุดิบที่ผลิตเองได้ในชุมชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนางนงเยาว์ ทรงวิชา ประธานกลุ่มทอผ้าไหมโบราณบ้านนาตัง ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนาตัง กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าไหมโบราณบ้านนาตัง มีความชำนาญด้านการพัฒนาผ้าโฮล ย้อมสีธรรมชาติ 5 สี ที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นของกลุ่ม ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากการต่อยอดลวดลายทางวัฒนธรรมดั้งเดิมให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาลวดลายผ้าโฮลย้อมสีธรรมชาติแบบใหม่ ในคอลเลคชั่น “Modern Hole Silk” โดยใช้เทคนิคการย้อมสีผ้าโฮลให้เกิดการผสมสี และมีลวดลายเป็น 3 มิติ และเทคนิคการย้อมสีผ้าโฮล ให้เกิดการผสมสีและลวดลายที่เกิดจากการวิ่งอย่างอิสระของการผสมสีบนเส้นด้าย ประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการย้อมสีธรรมชาติมาปรับปรุงกระบวนการย้อมที่ได้คุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามพระดำริ "Sustainable Fashion" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตลอดไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...