ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
จบภารกิจรักษาพังสร้อยทอง
09 มิ.ย. 2567


กาญจนบุรี – ชุ่มฉ่ำกลางสายฝนจนจบภารกิจรักษาพังสร้อยทอง!! กรมอุทยานฯร่วมกับ คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ และ มูลนิธิคชสาร เปิดปฏิบัติการลุยป่าบุกยิงยาซึม รักษาช้างชราพังสร้อยทอง พบแก้มอีกเสพมีน้ำปนเลือด 

ความคืบหน้ากรณี  ช้างป่าทองผาภูมิวัยชราเพศเมีย ชื่อพังสร้อยทอง อายุ ประมาณ 50 ปี มีอาการแก้มซ้ายบวม ขนาดใหญ่ ทำให้กินอาหารได้อย่างยากลำบาก โดยพระครูภาวนาสุทธาจารย์ (หลวงพ่อสาคร ธัมมาวุโธ) เจ้าอาวาสวัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน) ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ประธานมูลนิธิคชสาร และนายปฐม แหนกลาง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากลำห้วยปิล็อก พบเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่อุทยานทราบ พร้อมกับร่วมประชุมวางแผนหาแนวทางในการรักษา โดยช้างป่าตัวดังกล่าวมีลูกน้อยเพศผู้วัย 2 ปี คอยเดินคลอเคลียตามแม่ออกไปหากินอยู่ไม่ห่างแม่

โดยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)มอบหมายให้นายรัชสิต  จงจรัสพร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ พระครูภาวนาสุทธาจารย์ (หลวงพ่อสาคร ธัมมาวุโธ) สพ.ญ. กิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด สัตวแพทย์ศาสตร์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สพ.ญ. ลักษณา ประสิทธิชัย สัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)

ผศ.ดร.สพ.ญ. สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ สพ.ญ.สุธีรานันท์ พิพิธวณิชธรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เจ้าหน้าที่มูลนิธิคชสาร โดยนายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ มอบหมายให้นายวัลลภ จินดา ปลัดอำเภอ พร้อมด้วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านประจำไม้ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมวางแผนในการหาแนวทางในการรักษา ด้วยการยิงยาไซลาซีน (Xylazine)ที่เป็นยาซึม โดยแผนปฏิบัติจะเริ่มในเวลา 07.30 น.วันที่ 8 มิ.ย.ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเวลา 07.30 น.วันนี้ 8 มิ.ย.67 คณะเจ้าหน้าที่ข้างต้น นำโดยนายรัชสิต จงจรัสพร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้นำกำลังออกเดินทางไปติดตามหาช้าง 2 แม่ลูก ซึ่งการติดตามหานั้นค่อนข้างลำบาก รถยนต์ที่นำมาไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากฝนตกลงมาตลอดเวลา ทำให้เส้นทางที่เป็นดินโคลนลื่น อีกทั้งเป็นทางลาดชัน ต้องใช้วิธีเดินเท้าเข้าไปติดตามหาช้างป่าเท่านั้น

สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไปพบช้างป่าสองแม่ลูกกำลังหากินอยู่ที่บริเวณป่าบ้านประจำไม้ ท้องที่ หมู่ 4 ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จึงจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อได้จังหวะที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จึงยิงไซลาซีน(Xylazine)ที่เป็นยาซึมใส่ช้างทั้ง 2 แม่ลูก โดยใช้เวลาประมาณ 25-30 นาทีลูกช้างจึงยืนซึมอยู่กับที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ไม้คอยสะกิดอยู่ตลอดเวลา การที่เจ้าหน้าที่ต้องวางยาสลบให้กับลูกช้างด้วยนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกช้างวิ่งไปหาแม่ เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษาแม่ช้างได้รับอันตรายจากลูกช้างได้

ในส่วนของพังสร้อยทอง ระหว่างที่รอยาซึมออกฤทธิ์อยู่นั้นช้างได้พยายามเดินข้ามคลองไปอีกฟากหนึ่ง แต่ด้วยความที่ช้างไม่แข็งแรงเมื่อยาออกฤทธิ์จึงล้มลงอยู่ริมคลอง เจ้าหน้าที่คณะสัตวแพทย์จึงรีบเข้าไปทำการรักษาด้วยการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจบริเวณแก้มด้านซ้ายเพื่อหาสาเหตุของการบวม พบลักษณะเป็นของเหลวอยู่ภายในแก้ม จึงทำการดูดของเหลวออกมามีลักษณะเป็นน้ำใสปนเลือด และพบว่ามีการอักเสบและหนาตัวของเนื้อเยื่อแก้มด้านนอกกระพุ้งแก้มด้านในทำให้เวลาช้างบดเคี้ยวอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก

เมื่อทราบสาเหตุทีมคณะสัตวแพทย์ฯจึงได้ทำการฉีดยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งยาลดการอักเสบและลดอาการปวด อีกทั้งยังให้วิตามิน และให้สารน้ำทางเส้นเลือด จากนั้นได้เก็บตัวอย่างจากเลือด  เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์สุขภาพทางห้องปฏิบัติการ และเก็บของเหลวจากแก้มที่บวม รวมถึงเก็บตัวอย่างจากแผลเพื่อนำไปเพาะเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย จากนั้นได้ทำการฝังไมโครชิพเอาไว้ที่บริเวณหลังใบหูขวา

เมื่อคณะสัตวแพทย์ดำเนินการแล้วเสร็จเสร็จ จึงได้ทำการฉีดยาแก้ฤทธิ์ยาซึมให้กับช้างสองแม่ลูกพร้อมกัน จากนั้นจึงถอนกำลังออกมาให้ห่างจากแม่ช้างและลูกช้าง ไม่นานนักช้างสองแม่ลูกก็ฟื้นจากอาการซึม โดยพบว่าลูกช้างมีร่างกายที่แข็งแรง เมื่อฟื้นจากยาซึมได้วิ่งไปหาแม่อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามการรักษาพังสร้อยทอง จะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะหายกลับมาเป็นปกติ และระหว่างนี้จะเฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 กรกฎาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...