ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมควบคุมโรค แนะผู้ประกอบการใส่ใจเลือกวัตถุดิบและปรุงอาหารให้ถูกสุขอนามัย ประชาชนควรสังเกตและเลือกอาหารที่สะอาดก่อนรับประทาน เพื่อให้ปลอดภัยจากหนอนพยาธิ
01 ก.พ. 2561

              กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ประกอบการร้านปลาดิบ ซูชิ  ให้ใส่ใจเลือกวัตถุดิบและปรุงอาหารให้ถูกสุขอนามัย เน้นต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ในการประกอบอาหาร ผู้ปรุงอาหารต้องดูแลสุขภาพของตนเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำ ประชาชนผู้บริโภคก็ต้องหมั่นสังเกตและเลือกอาหารที่ใหม่ สด และสะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและหนอนพยาธิ
              วันที่ (30 มกราคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยนิยมรับประทานอาหารประเภทซูชิหน้าอาหารดิบเพิ่มขึ้น เช่น ปลาดิบ หรือหน้าไข่กุ้ง ปลาซาบะดอง เป็นต้น เพราะเป็นอาหารที่สวยงาม ราคาถูก ทานสะดวก หาซื้อง่ายตามตลาดนัด แผงลอย และร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าหรือตามเมืองใหญ่ ซึ่งอาหารประเภทนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะรับประทาน คือ อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและหนอนพยาธิ
              กรมควบคุมโรค ขอแนะนำผู้ประกอบการ ผู้ปรุงอาหารถึงวิธีป้องกันและลดการปนเปื้อนของพยาธิในซูชิหน้าอาหารดิบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่นิยมบริโภคอาหารประเภทดังกล่าว ดังนี้ 1.ปลาดิบ อาหารทะเลต้องแช่แข็งและเก็บไว้ในอุณภูมิตามที่กำหนด 2.ข้าวปั้นผสมน้ำส้มสายชู ควรมีค่าความเป็นกรดอยู่ที่ 4.6 กรณีที่เก็บในอุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บไว้เกิน 8 ชั่วโมง 3.อุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุงประกอบ เช่น มีด ไม้ไผ่ห่อซูชิ หรือเขียงหั่น ต้องทำความสะอาดเป็นประจำ 4.ผู้ปรุงอาหารควรล้างมือหลังรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ที่สำคัญไม่ควรปรุงอาหารหากมีอาการป่วย อาเจียน ท้องเสีย  5.ใช้ถุงมือขณะปรุงอาหาร ควรเปลี่ยนถุงมือบ่อยๆ ห้ามใช้ซ้ำ  6.การเก็บรักษาซูชิที่ปรุงสำเร็จแล้ว ควรเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า คลุมด้วยพลาสติกคลุมอาหาร และห้ามเก็บเกิน 4 ชั่วโมง 7.การจัดวางซูชิที่พร้อมจำหน่าย ควรหลีกเลี่ยงโดนแสงแดด จัดให้มีป้ายหรือจานที่แสดงเวลาการปรุงและเตรียมอาหาร 8.ผู้ปรุงอาหาร  ควรตรวจสุขภาพประจำปีให้ครบ 9 โรค ได้แก่ วัณโรค อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย บิด ไข้สุกใส คางทูม โรคเรื้อน โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ และไวรัสตับอักเสบ A อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  และ 9.ผู้ประกอบการ ผู้ปรุงอาหารควรผ่านการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. กรมอนามัย เป็นต้น
               นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า  สำหรับประชาชนที่ชอบรับประทานอาหารประเภทดังกล่าว  ขอให้หมั่นสังเกตและเลือกรับประทานอาหารที่สด ใหม่ และสะอาด ที่สำคัญควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ใช้ตะเกียบหรือช้อนในการรับประทาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพของตนเอง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด ไม่มีแมลงวันตอม หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เพื่อห่างไกลจากโรคทางเดินอาหาร  หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...