พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าวเมือง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของ สตม. โดยสั่งการและกำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวนเน้นบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1 พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ รอง ผบก.ฯ ปรก.บก.ตม.1 พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 จึงสั่งการให้ชุดสืบสวน นำโดย พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวเพื่อป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง ตามแหล่งที่ชุมนุมรวมตัวของคนต่างด้าว
ต่อมา พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ตรวจสอบตามศาสนสถานคริสตจักร ที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนต่างด้าวหลายแห่ง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบผู้ต้องสงสัย มีท่าทีพิรุธเมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ จึงเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ขอตรวจสอบหลักฐานเอกสารหนังสือเดินทาง ในเบื้องต้นผู้ต้องสงสัยไม่ยอมแสดงเอกสาร แต่ได้แจ้งชื่อและวันเดือนปีเกิด เมื่อตรวจสอบจากฐานข้อมูลพบว่า ผู้ต้องสงสัยชื่อ MS.MARRY อายุ 42 ปี สัญชาติฟิลิปปินส์ เดินทางเข้าออกราชอาณาจักรมาแล้ว 26 ครั้ง ครั้งล่าสุดเดินทางเข้ามาเมื่อช่วงต้นปี 2563 ได้รับการตรวจลงตราด้วยวีซ่าประเภทผ่อนผัน 30 วัน เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 อนุญาตถึง 31 มี.ค.2563 หลังจากนั้นไม่พบว่ามีการยื่นคำร้องขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก ถือว่าการอนุญาตสิ้นสุดลงแล้วกว่า 4 ปี
ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวน ได้ข้อมูลว่า MS.MARRY ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง แต่เคยรับจ้างดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อและจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียด เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหา "เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด“ แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับให้ทราบ จากนั้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินคดีและส่งตัวกลับประเทศต้นทางต่อไป
พ.ต.ท.สุริยะฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ”บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้าน หรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ ที่อยู่ในความดูแลของตนอีกด้วย“
สตม.จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขันและปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมารพระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ หมายเลข 1178 ได้ทันที
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / รายงาน