ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - คึกคักสนั่นลั่นวัดงานปิดทองหลวงปู่ดี!!
17 มิ.ย. 2567

ประกวดแตรวงท้องถิ่นสุดมันส์ ในงานฉลองมณฑป และปิดทองบูรพาจารย์หลวงปู่ดี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานวัดเทวสังฆาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  ได้จัดงานทำบุญปิดทองหลวงปู่ดี ในวันบูรพาจารย์ประจำปี 2567 งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ถึง 17 มิถุนายน 2567 พร้อมกับฉลองมณฑปหลวงปู่ดี และเปิดพิพิธภัณฑ์ทรงไทย 

ในวันแรกนี้จะมีการประกวดแตรวงท้องถิ่นกาญจนบุรี มีแตรวงเข้าร่วมสมัครการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม วงที่ 1 ปุญญพัฒน์, วงที่ 2 เชอรี่แบนด์, วงที่ 3 ศิษย์หลวงปู่เปลี่ยน, วงที่  4 ฝนเดือนหก, วงที่ 5 ชงโคแบนด์, วงที่ 6 ช.คชายุทธ วงที่ 7  BK แบนด์, และวงที่ 8 โรงเรียนวังศาลา กติกาการแข่งขันกำหนดประกวดเพลงช้า 1 เพลงและเพลงเร็ว 1 เพลง และให้ซื้อพวงมาลัยเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนี้อีกด้วย มีคณะกรรมการวัดเหนือ ผู้ชมและกองเชียร์ เข้ามานั่งล้อมวง ชมการประกวดในครั้งนี้ด้วย

บรรยากาศการประกวดแตรวง แต่ละทีมก็จะมีสไตล์การเล่นที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละวงก็จะมีช่วงอายุที่แตกต่างกัน รวมทั้งการแต่งกาย และเทคนิคลูกเล่นในการประกวด สร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้ชม และคณะกรรมการตัดสิน เมื่อถึงเพลงเร็วของแตรวงทุกวง ก็จะมีเหล่าบรรดานักเต้นออกมาแจมสุดเหวี่ยง สร้างสีสันในการประกวดในครั้งนี้ บางคนแต่งกายเป็นธีมเดียวกัน ก็จะมีการซื้อพวงมาลัย เพื่อสนับสนุนกิจกรรม ไปนำไปคล้องกับผู้ที่ออกมาเต้นสนุกสนานท่วงท่าลีลาไม่ยอมกัน การประกวดของแต่ละวงในแสดงการเป่าแตร ตีกลองควอททอม ตีฉาบ พร้อมเทคนิคต่างๆอีกมากมายสร้างความหนักใจให้กับกรรมการเป็นอย่างมาก

ก่อนที่จะประกาศผลการตัดสิน แตรวงทุกทีมจะมารวมกันและประชันสดในเพลงรักข้ามคลอง เหล่านักเต้นต่างเข้ามาแจมกันอย่างสนุกสนานเต็มเหนี่ยวไปด้วยกัน

ต่อมาได้ประกาศผลการประกวดแตรวงท้องถิ่นจังหวัดกาญจนบุรี โดยแตรวงทุกวงที่เข้าประกวดจะได้รับใบเกียรติบัตรที่เข้าร่วมการประกวดในงานครั้งนี้ ผลรางวัลพิเศษสำหรับนางรำขวัญใจประชาชน เงินรางวัล 3,000 บาทได้แก่ทีม เชอรี่แบรนด์ โดยมี อาจารย์ สมโภชน์ดอกยอ นายกสมาคมวงดนตรีและหางเครื่องจังหวัดกาญจนบุรี มอบใบเกียรติบัตรและเงินรางวัล,  รางวัลที่ 3 สจ.ปิยะ สาระสาริน เงินรางวัล 7,000 บาท ได้แก่ทีม ปุญญพัฒน์ โดยมี พลตำรวจตรี กมลสันติ กลั่นบุตร เป็นผู้มอบถ้วยรางวัลและเงินรางวัล, รางวัลที่ 2 ถ้วยรางวัล ท่านเจ้าคุณพระกิตติสุวัฒนาภรณ์ เงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ทีม โรงเรียนวัดวังศาลา โดยมี พระสมุวิโรจน์ หรือหลวงพี่ตู่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นผู้มอบถ้วยรางวัลและเงินรางวัล, รางวัลที่ 1 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เงินรางวัล 15,000 บาท ได้แก่ทีมฝนเดือนหก โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 

จากนั้นแตรวงทุกทีมได้ร่วมกันบันทึกภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึกก่อนที่จะเข้าไปสักการะปิดทองรูปหล่อ หลวงปู่ดี เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนเที่ยวชมงานประจำปี 2567 โดยวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ช่วงเช้าจะมีการเทศน์มหาชาติ  ช่วงค่ำมีการแสดงเชิดมังกรทองประดับไฟ จังหวัดนครสวรรค์ รับชมลิเกดังคณะอดิเทพฟ้ารุ่ง จังหวัดสุพรรณบุรี และวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ช่วงเช้ามีพิธีมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน และพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ทรงไทย พิธีฉลองมณฑปหลวงปู่ดี พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  

สำหรับประวัติมีในบันทึกของหลวงปู่ดี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2417 (นับแบบใหม่) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรของคุณพ่อเทศ และคุณแม่จันทร์ เอกฉันท์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน ท่านเป็นลูกคนที่ 7 บวชเป็นสามเณรในปี พ.ศ.2434 ณ วัดทุ่งสมอ มีพระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของท่านเป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาร่ำเรียนได้ 6 เดือน ก็ลาสิกขาออกมาช่วยบิดามารดาทำนา จนอายุครบบวช จึงอุปสมบท ณ วัดทุ่งสมอ มี พระครูวิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการรอด และ พระใบฎีีกาเปลี่ยน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “พุทธโชติ”

จำพรรษาที่วัดทุ่งสมอ ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ มีความชอบเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการสวดปาติโมกข์ จึงมีความมานะพยายาม จนที่สุด สามารถท่องปาฏิโมกข์ได้จบบริบูรณ์ในพรรษาที่ 2

ช่วงออกพรรษามักธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ศึกษาวิปัสสนาและวิทยาคมกับพระเกจิดัง อาทิ พระอาจารย์เกิด วัดกกตาล นครชัยศรี, หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี, หลวงพ่อยิ้ม วัดหนองบัว ฯลฯ.

มีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จำพรรษาที่วัดรังษีถึง 2 ครั้ง เพื่อเรียนภาษาบาลี แต่ก็ไม่ได้เรียน กลับไปเรียนปาติโมกข์แปลแทน ท่านมีความสามารถในเรื่องสวดมนต์และท่องปาติโมกข์จนได้รับคำชมเชยเป็นอันมาก

ชะตาผกผัน ในพรรษาที่ 12 ที่หลวงปู่ดีมาจำพรรษาที่วัดรังษี ครั้งที่ 2 นั้น ท่านพบพระครูสิงคิบุราคณาจารย์ (หลวงพ่อสุด) เจ้าอาวาสวัดเหนือ ซึ่งรู้จักกันมาก่อนในครั้งที่ญาติโยมนิมนต์ให้ไปสวดที่วัดใต้

หลวงพ่อสุด ทำหนังสือเดินทางเพื่อไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า หลวงปู่จึงขออนุญาตเดินทางไปด้วย ตลอดทางทั้งไปและกลับ หลวงพ่อสุดเกิดอาพาธ ซึ่งหลวงปู่ดี คอยปรนนิบัติดูแลจนกลับถึงวัดเหนือ หลวงพ่อสุด ยังปรารภว่า “ถ้าไม่ได้หลวงปู่ดีไปด้วยกัน ท่านก็คงมรณภาพเสียที่กลางทางเป็นแน่”

หลวงปู่ดี กลับมาอยู่กรุงเทพฯ ดังเดิม แต่ก็มีจดหมายไต่ถามทุกข์สุขกันเสมอมา บางครั้ง หลวงพ่อสุด ลงมากรุงเทพฯ จะมาแวะพักพูดคุย จนช่วงหลังๆ ท่านอาพาธหนัก เดินทางไปไหนไม่ได้ จึงมีจดหมายถึงหลวงปู่ดีขอให้ไปเยี่ยมท่าน

จึงหาโอกาสขึ้นไปเยี่ยมที่วัดเหนือ หลวงพ่อสุด ให้ศิษย์นิมนต์หลวงปู่ดีอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ท่านก็ไม่รับปาก แต่ได้ช่วยดูแลกิจการต่างๆ เช่น สวดปาติโมกข์ หรือเทศน์แทนท่าน เป็นต้น

คราหนึ่ง หลวงพ่อสุด ให้ทายกหลายคนมาขอร้องให้ท่านเป็นสมภาร ท่านก็ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด

จนเมื่อหลวงพ่อสุด มรณภาพ กรรมการและศิษย์วัดและชาวบ้านทั้งหลาย จึงนิมนต์ขอให้ท่านเป็นสมภารอีกครั้ง ซึ่งท่านไม่สามารถปฏิเสธได้ จึงต้องรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเหนืออย่างเต็มตัว

เป็นพระเถราจารย์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาจิต ท่านปรับปรุงและพัฒนาทุกอย่างในวัด ทั้งขนบธรรมเนียม ระเบียบพิธีการ และถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด พระทุกรูปมีวัตรปฏิบัติเรียบร้อย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นับได้ว่า วัดเหนือได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ จนเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ชื่นชมศรัทธาของเหล่าสาธุชน แม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ยังทรงยกย่องให้เป็นตัวอย่างของวัดทั้งหลาย

เป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยที่พระองค์กลับมาอุปสมบทที่วัดเหนือและจำพรรษาอยู่ 1 พรรษา จากนั้นกลับสู่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุตอีกครั้ง โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ในปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดเหนือ และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระปรมาภิไธย ภปร จารึกไว้เหนือผ้าทิพย์ ของ “พระพุทธรูปปางประทานพร” ที่วัดจัดสร้างเพื่อนำปัจจัยมาบำรุงวัด ทั้งพระราชทานแผ่นทอง เงิน และนาก ลงในเบ้าหลอมพระพุทธรูปทุกเบ้า อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง

ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพมงคลรังษี และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2510 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 73 
   ////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...