ด้วยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ตรวจสอบพบว่า ในพื้นที่สวนสัตว์อุบลราชธานีได้มีการสั่งนำเข้าเสือโคร่งไซบีเรีย(Siberian tiger or Amur tiger) และเสือขาวจากต่างประเทศ เข้ามาเลี้ยงไว้และจัดแสดงเพื่อประโยชน์ในการศึกษา และอํานวยบริการแก่ประชาชนหรือเยาวชนทั่วไปนานแล้ว แต่ทราบว่าเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐ มีผู้ประสงค์ร้ายนำอาหารเสือผสมวัตถุมีพิษประเภทสารคาร์โบฟูแรน (Carbofuran) ให้เสือโคร่งไซบีเรียกินจนถึงแก่ความตาย ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะถือได้ว่าเป็นการสูญเสียสัตว์อนุรักษ์ที่จัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่ใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered; EN) ตามบัญชีแดงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN Red List, 2008) แต่ทว่าสวนสัตว์อุบลราชธานี องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กลับไม่มีผู้ใดออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะแต่อย่างใด แต่กลับมีความพยายามปิดข่าวดังกล่าวไม่ให้แพร่งพรายออกไป
ทั้งนี้กว่าที่สวนสัตว์อุบลราชธานีจะขยับเพื่อแสวงหาความจริงได้ก็ปล่อยให้ระยะเวลาเนิ่นช้าออกไป โดยเริ่มคิดที่จะนำชิ้นเนื้อและอวัยวะเสือโคร่งไซบีเรียที่เสียชีวิตส่งตรวจวิเคราะห์ ไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๑๐ อุบลราชธานีก็ล่วงระยะเวลาไปแล้วเกือบ ๑ สัปดาห์ โดยจัดส่งชิ้นเนื้อและอวัยวะไปตรวจพิสูจน์ในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๑๐ อุบลราชธานีได้ตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อและอวัยวะภายในเสือโคร่งดังกล่าวแล้วพบว่ามี “สารพิษคาร์โบฟูแรน” (Carbofuran) ซึ่งเป็นสารเคมีพิษกำจัดแมลงที่มีพิษร้ายแรง
การตายของเสือโคร่งไซบีเรีย ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในวงการนักอนุรักษ์ทั่วโลก เพราะเสือพันธุ์นี้เป็นสัตว์ที่ใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered; EN) ตามบัญชีแดงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN Red List, 2008) แต่ทว่าผู้ถูกกล่าหาทั้งสาม หาได้กระตือรือร้นที่จะดำเนินการตรวจสอบหรือเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าขบวนการลักลอบซื้อขายซากสัตว์ป่านั้น ยังมีอิทธิพลอย่างมหาศาลในประเทศไทย โดยเฉพาะซากสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับการนำไปทำยาบำรุงเพิ่มพลัง เพิ่มสมรรถนะทางเพศ หรือยาอายุวัฒนะ ฯลฯ ซึ่งสัตว์ตระกูลเสือถือได้ว่าเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ของความต้องการของขบวนการเหล่านี้ ที่อาจเข้าไปดำเนินการว่าจ้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องของรัฐในการทำให้สัตว์ป่าเป้าหมายเสียชีวิต และดำเนินการส่งคนของตนเข้าไปขโมยหรือลักซากออกมา ด้วยมาตรการและวิธีการต่าง ๆ
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสวนสัตว์อุบลราชธานีโดยตรง ที่ปล่อยให้มีการกระทำการฆ่าเสือโครงไซบีเรียอย่างผิดธรรมชาติ และยังปล่อยให้มีผู้ลักลอบเข้าไปงัดแงะขโมยหนังสือดังกล่าวออกไปได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ราชการซึ่งควรจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้เสือโคร่งไซบีเรียถือว่าเป็นทรัพย์สินของคนไทยทั้งประเทศ เพราะจัดซื้อจัดหามาจากเงินภาษีของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการตรวจสอบ และทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชน เพื่อเป็นการป้องปรามและเข้มงวดต่อมาตรการเพื่อความปลอดภัยต่อสวนสัตว์อุบลราชธานีและสวนสัตว์อื่น ๆ ขององค์การสวนสัตว์ฯ ที่ยังมีสัตว์ป่าอนุรักษ์หรือสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขบวนการลักลอบซื้อขายซากสัตว์ป่าเข้ามาดำเนินการเฉกเช่นเดียวกับเสือโคร่งไซบีเรียที่สวนสัตว์อุบลราชธานีก็เป็นไปได้ แต่ทว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับยังคงนิ่งเฉย ไม่ดำเนินการอย่างใด ๆ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยหรือสาธารณชนได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เกิดซ้ำขึ้นมาอีก
เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่และประชุมวิชาการของสมาคมสวนสัตว์และอควอเรี่ยมโลก World Association for Zoos and Aquariums ( WAZA ) ในปี 2018 ( ๒๕๖๑ ) อย่างเป็นทางการ นับเป็นข่าวดีกับชาวไทย ซึ่งสมาคมสวนสัตว์และอควอเรี่ยมโลก World Association for Zoos and Aquariums (WAZA) เป็นองค์การระดับโลกที่มีสมาชิกเป็นสวนสัตว์และอควอเรี่ยมชั้นนำของโลก เป็นที่ชุมนุมของสัตวแพทย์ นักวิชาการและผู้บริหารสูงสุดของสวนสัตว์ชั้นนำทั่วโลกที่เป็นสมาชิกสวนสัตว์จากทั่วโลกเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการอนุรักษ์ ( United for Conservation ) ปัจจุบันมีสวนสัตว์และอควอเรี่ยมชั้นนำกว่า ๓๐๐ แห่งทั่วโลกเป็นสมาชิกของสถาบันแห่งนี้ มีเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกัน ๑,๒๐๐ องค์กร ทั่วโลก ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นี้จะมีผู้แทนของ WAZA มาประชุมวางแผนงานกันแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลไทยมีคำตอบในกรณีที่มีการตายของเสือโคร่งไซบีเรีย ณ สวนสัตว์อุบลราชธานีได้ ก็จะเป็นการสร้างความกระจ่างและความเชื่อมั่นให้กับมวลสมาชิก WAZA ที่จะเดินทางมาประชุม ณ ประเทศไทยในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามขบวนการลักลอบซื้อขายซากสัตว์ป่า
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลองค์การสวนสัตว์ ได้ตรวจสอบและหากพบความผิดให้ลงโทษ....๑)ผู้อำนวยการสวนสัตว์อุบลราชธานี…๒)ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถ้มภ์ และ ๓)คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อไป