ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
มูลนิธิกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ชี้แจงเหตุผู้บำบัดยาเสพติด หนีจากสถานฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา
24 มิ.ย. 2567

 ย้ำบริหารจัดการภายใต้กฎหมายและคุณธรรม เป็นองค์กรการกุศล ไม่ทำธุรกิจกำไร ไม่มีการทำร้ายร่างกายและเป็นห่วงสังคมติดยาทุกชุมชน วอนรัฐช่วยแก้ปัญหา 

  ที่จังหวัดกระบี่ นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานป้องปรามและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และรองประธานมูลนิธิคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นประธานแถลงชี้แจงเหตุผู้บำบัดยาเสพติดหนีออกจากสถานฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน และ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายอัสนาวี มุคุระ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดกระบี่และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีและที่ปรึกษาฝ่ายป้องปรามและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด นายอดิสรณ์ เกกินะ เลขานุการกรรมการอิสลามจ.กระบี่ นายดิสัน แหล่ทองคำ ที่ปรึกษาประธานฝ่ายฯ และนายอิสริส บุหงารัตน์ ผู้อำนวยการสถานฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง

  นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกชุมชนมีลูกหลานติดยาเสพติด ที่เข้าระบบการบำบัดมีประมาณ 30 % และที่ไม่ได้เข้าระบบบำบัดอีก 70 % อยู่ตามชุมชนและที่เข้าระบบการบำบัดก็ไม่ได้เต็มใจ แต่ด้วยความเป็นห่วงของผู้ปกครอง จึงส่งเข้าสถานบำบัด คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงได้มีมติจดทะเบียนมูลนิธิขึ้นมา ใช้ชื่อว่า มูลนิธิคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ซึ่งได้จดทะเบียนที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เพื่อช่วยเหลือสังคมเปราะบางและอ่อนแอ ผ่านโครงการฟื้นฟูและบำบัดยาเสพติดที่เกาะศรีบอยา ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ โดยเปิดเป็นการเรียนการสอนก่อนที่จะมาเปิดเป็นสถานบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ซึ่งเปิดมาแล้ว 1 ปีเศษ มีผู้ป่วยยาเสพติดเข้ามาบำบัดแล้วรวม ประมาณ 500 คน และหายป่วยกลับไปแล้วประมาณ 200 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยยังคงอยู่ 216 คน โดยศูนย์แห่งนี้รับผู้ป่วยได้ 330 คน จากการประเมินติดตามผลพบว่า 80% ไม่กลับมาติดยาอีก มีอาชีพ แต่งงานมีครอบครัว ส่วนอีก 20% ยังกลับไปเสพยาและย้ำว่าสถานฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา บริหารภายใต้กฎหมาย และได้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการ ใช้เมตตาธรรม คุณธรรม ซึ่งมูลนิธิได้ขออนุญาตเปิดเป็นศูนย์บำบัด โดยใช้ศาสนบำบัด จากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี หรือ สบยช.
  รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยหนีออกจากสถานฟื้นฟูเกาะศรีบอยา ถึง 2 ครั้งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก บางครั้งเด็กที่หายป่วยแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่มารับและฝากให้อยู่ต่อ เด็กเกิดความกดดัน ไม่มีเป้าหมาย ก็เป็นเหตุผลหนึ่งและจากข่าวที่สื่อมวลชนได้นำเสนอและสัมภาษณ์ผู้ที่หนีออกไปว่า โดนทำร้าย ทุบตีนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง และผู้ป่วยอาจจะให้เหตุผลเพื่อป้องกันตนเอง เช่น เรื่องบาดแผลที่เท้า หรือถอดเสื้อ ก็ชี้แจงว่า ที่ปอเนาะปูกระเบื้อง ทุกคนไม่ใส่รองเท้า แต่เมื่อออกไปเท้าเปล่าอาจเป็นแผลระหว่างหนี โดนกระเบื้องบ้าง หินบ้าง หรือการถอดเสื้อที่มีผู้นำกลุ่มบอกว่า ถ้าไม่ให้ถอดจะไม่ให้หนีไปด้วยและเกิดการเลียนแบบกันถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกหนีไปได้ 82 คน ครั้งที่ 2 จำนวน 14 คน โดยหลังจากศูนย์ฯได้เกลี้ยกล่อมแต่ไม่เป็นผล จึงได้จัดรถรับส่งและให้กลับไปอยู่ที่บ้าน ทั้งที่หลายคนยังบำบัดไม่ครบหลักสูตรและบอกด้วยว่า การที่เด็กเข้ามาอยู่ตรงนี้ ไม่ได้เก็บเงิน บำบัดด้วยใจเป็นการกุศล ไม่ใช่งานธุรกิจค้ากำไร ปัจจุบันนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ใช้เงินเดือนละ 400,000 บาททุกเดือน ที่จะมาช่วยพยุงให้ศูนย์ฯนี้ดำเนินการอยู่ได้  และแม้จะพบกับปัญหานี้ แต่เราก็จะเดินต่อและขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ก็ขอตั้งมั่นว่า จะดำเนินการช่วยสังคมต่อไป
  ด้านนายอัสนาวี มุคุระ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีฝ่ายป้องปรามยาเสพติด และคัดเลือกให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งเดียวที่ให้มีศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติดและจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา ก็มีความกังวล และเป็นห่วง โดยลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจและเห็นถึงความร่วมมือร่วมแรงกันของหน่วยงานในพื้นที่ทั้งอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงทางจังหวัดได้ติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิดและพร้อมให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆซึ่งจะระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ไม่ให้เกิดเหตุการณ์อีกและอยากให้เผยแพร่ข่าวออกไปว่าเกาะศรีบอยานั้นยังเหมือนเดิมและพร้อมจะปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
  ขณะที่นายอิสริส บุหงารัตน์ ผู้อำนวยการสถานฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา กล่าวเปิดเผยว่า ที่ศูนย์ฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา เราเป็นองค์กรการกุศล โดยศาสนบำบัดและใช้คุณธรรม จริยธรรม ยับยั้งชั่งใจ เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติด ซึ่งแน่นอนว่าน้องๆที่มาที่ศูนย์อาจจะไม่ได้เต็มใจมา แต่เราใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต 22 ก็คือให้ผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินใจในการส่งเข้าบำบัดและทำบันทึกข้อตกลงกันสั้นๆ ระหว่างผู้ปกครอง ซึ่งเดิมเราเป็นโรงเรียนปอเนาะ ก็ใช้การสอนศาสนาเข้ามาช่วยปรับพฤติกรรมความคิด โดยใช้หลักสูตร 6 เดือน ซึ่งจะต่างจากที่โรงพยาบาล ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ แต่บางคนก็เข้าไปแล้วหลายรอบ ก็ไม่สามารถหายได้ เอาไม่อยู่ ผู้ปกครองจึงส่งมาที่ศูนย์ฯ เนื่องจากระยะยาว คล้ายโรงเรียนประจำและเราเป็นสถานบำบัดที่ได้มาตรฐาน ตาม สบยช. และต้องบำบัดฟื้นฟูตามกระบวนการของกระทรงสาธารณสุข ซึ่งมีหลักๆอยู่ 4 ขั้นตอน คือ การรับผู้ป่วยต้องเป็นผู้ติดยาเสพติดเท่านั้น ต้องไม่เป็นโรคติดต่อรุนแรงและต้องมีการรับรองจากผู้ปกครองเท่านั้น หรือบังคับบำบัดจากศาล แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองส่งมาเนื่องจากติดยาเสพติด
  “นอกจากนี้จะต้องมีการคัดกรองก่อนเข้ารับการบำบัด ซึ่งต้องผ่านการคัดกรองจากโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งเราได้ทำ MOU กับโรงพยาบาล 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเหนือคลอง และโรงพยาบาลจริยธรรมรวมแพทย์ หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อประเมินผู้ป่วย 4 กลุ่ม ซึ่งถ้ากลุ่มสีแดง สีส้ม ทางศูนย์จะไม่สามารถรับได้เนื่องจากสภาวะทางจิตทางอารมณ์ของน้องได้ ซึ่งต้องอยู่โรงพยาบาลก่อน เราจะรับสีเหลือง หรือเขียว เพื่อมาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น แล้วส่งกลับเข้าสังคมใหม่ ซึ่งรับทั้งคนไทยและมุสลิม ไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ แต่สัดส่วนจะเป็นมุสลิมมากกว่า มีคนไทยอยู่ 100 กว่าคน โดยใช้การฝึกพัฒนาอาชีพร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะมีอายุ 18 – 50 ปี  บางคนใช้เวลาเพียง 2 เดือน ก็สามารถฟื้นฟูและกลับออกไปใช้ชีวิตปกติได้ หรือบางคน 6 เดือน แต่ก็ยังไม่สามารถกลับออกไปใช้ ซึ่งจะใช้การประเมินทุก 3 เดือน แล้วมาประเมินร่วมกันกับผู้ปกครองและอยากให้ผู้ปกครองมาเยี่ยมน้องๆบ้างช่วงที่มีการบำบัด เพราะจะเป็นกำลังใจ เพราะเมื่อวันหนึ่งเค้าคิดได้ คนแรกที่เค้าจะนึกถึงคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง
  ผู้อำนวยการสถานฟื้นฟูปอเนาะเกาะศรีบอยา ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า“ที่นี่เราใช้การเป็นอยู่เหมือนโรงเรียนดูแลแบบครูอาจารย์ พ่อกับลูก ไม่ใช่เรือนจำเหมือนขังนักโทษ อาจจะมีระเบียบวินัยบ้าง ไม่สบายเหมือนอยู่บ้าน ทุกคนจะต้องฝึก บางคนอาจจะเครียดก็จะมีนักจิตวิทยา หรือเพื่อนๆคอยแนะนำและจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็เสียดายว่า บางคนยังไม่ครบเทอม ก็ได้ติดตามไปก็พบว่ามีทั้งดีและไม่ดี บางคนจากที่ไม่เคยละหมาดก็กลับมาละหมาด แต่เหตุไม่ดี หนักสุดคือ กลับไปเสพยาและทะเลาะกับบุพการี ถึงขั้นเสียชีวิต แล้วไปเกิดคดีซ้ำ มีปัญหากับเพื่อนในกลุ่ม และถูกฆาตกรรม ก็รู้สึกเสียใจเช่นกันและอยากขอโทษชาวเกาะศรีบอยาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่น้องๆเค้าก็ไม่ได้คิดจะทำร้าย เค้าแค่อยากกลับบ้าน แต่อาจจะทำให้เกิดความตระหนักและหวาดกลัว ก็ต้องขอโทษทางพี่น้องเกาะศรีบอยาทุกคนและขอบคุณทุกๆคน ทีมงานทั้งหมดที่ช่วยดูแลจนเหตุการณ์คลี่คลาย ก็พยายามให้ดีที่สุด จะไม่ให้เกิดขึ้นอีกและอยากให้กำลังใจคนที่ทำงานด้านยาเสพติด ซึ่งคนที่อยู่ในสังคมที่ป่วยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่สำคัญของชาติ เป็นคนที่มีศักยภาพ ผมได้เห็นตอนที่เค้าป่วยและได้เห็นตอนที่เค้าเปลี่ยน รู้สึกว่านี่คือพลังของชาติ”

กระบี่ 0936161569

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 กรกฎาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...