ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
กกต.เผยมี 614 คำร้องปมเลือก สว. สอบแล้วสอยทีหลัง ลุ้นผลทางการ 3 ก.ค.
27 มิ.ย. 2567

เลขา กกต.สรุปภาพรวมหลังจบเลือก สว. เผยประกาศผลตั้งแต่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป เผยมี 614 คำร้อง สอบแล้วสอยทีหลังเรื่องปกติ ผู้สมัครที่เห็นว่า จนท.ไม่เป็นธรรมร้องศาลฎีกาได้ ส่วนเรื่องทุจริตต้องร้องผ่าน กกต. ยันปมฮั้ว-บล็อกโหวตเพราะระเบียบเก่าถูกยกเลิกเลยเกิดช่องโหว่

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.แถลงสรุปภาพรวมภายหลังเสร็จสิ้นการเลือก สว.ระดับประเทศวานนี้ (26 มิ.ย.) ว่า ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย โดยผลการเลือก สว. ได้ประกาศผลคะแนน โดยสำนักงาน กกต.ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ไปแล้ว ผลคะแนนผู้ที่เข้าเกณฑ์ไปเป็น สว. กลุ่มละ 10 คน มีสำรองกลุ่มละ 5 คน คือตัวจริง 200 คน และตัวสำรอง 100 คน ตนในฐานะผู้อำนวยการการเลือก สว.ระดับประเทศ ได้แจ้งผลคะแนนให้กับ กกต.วันนี้ ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

ส่วนคำถามว่า กกต.ต้องพิจารณาประกาศผลในช่วงไหน นายแสวง กล่าวว่า กกต.ต้องรอไว้อีกไม่น้อยกว่า 5 วัน นับไปก็น่าจะตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป มีสิทธิ์ที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นี่คือสิ่งที่จะต้องเป็นไปในช่วงนี้ ส่วนกรณีผู้คัดค้านผลการเลือก สามารถยื่นภายในศาลฎีกาภายใน 3 วัน เป็นการร้องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ถ้าเห็นว่า การดำเนินการในวันเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือกรณีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ ทั้ง กปร. และ ผอ.การเลือก ส่วนถ้าเป็นกรณีเลือกที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม สามารถร้องที่ กกต.ได้ เพราะเราจะพิจารณาก่อนส่งให้ศาล ทั้งก่อนและหลังประกาศผล ตามมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ถ้าเห็นว่าใคร หรือการใดทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม สามารถร้องที่ กกต.ได้

นายแสวง กล่าวว่า อีกเรื่องคือเมื่อคืน ประมาณ 04.00 น. หลายคนน่าจะรู้ผลกันหมดแล้ว มีผู้สมัคร สว.หลายคนมานั่งคุยเป็นเพื่อนกับตน ตั้งข้อสังเกตเรื่องความผิดปกติในการลงคะแนน จึงได้อธิบายไปหลายอย่างว่า ตนอาจไม่เห็นเท่ากับท่าน เพราะท่านอยู่ในที่เลือกมันใกล้ชิด แต่สิ่งที่ กกต.ทำ เราก็ยังรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และได้ชี้แจงไปหลายครั้ง ว่าเราจะดำเนินการเกี่ยวกับความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า การฮั้วกัน หรือบล็อกโหวต อะไรแบบนี้
    
“ผมบอกว่าถ้าระเบียบเก่าอยู่จะเกิดขึ้นได้น้อย และเราป้องกันได้ แต่เมื่อระเบียบถูกยกเลิก (เนื่องจากคำสั่งศาลปกครอง) เราต้องดูกฎหมาย ระเบียบเก่าหมายถึงตอนที่ร่างระเบียบเรื่องการแนะนำตัวตามมาตรา 36 เราให้แนะนำตัวได้ว่า ทำได้แค่ไหน ถ้าเกินนั้น ขอแลกคะแนนจะทำไม่ได้เลย แต่เมื่อระเบียบถูกยกเลิกก็ต้องดูกฎหมาย ทีนี้ตัวกฎหมายอย่างแรกการกระทำ เมื่อจะลงโทษใคร การกระทำเป็นความผิดหรือไม่ ที่พูดมา ไม่เห็นว่าใครพูดว่าผิดกฎหมาย โพย บล็อกโหวต มีแต่มันไม่ดี แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าผิดกฎหมาย แต่เวลาเราทำงาน เราต้องบอกว่า การกระทำแบบนี้กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดหรือไม่” นายแสวง กล่าว

 

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดูไปต่อคือ ความผิดนั้นมีองค์ประกอบความผิดว่าอย่างไร และเราต้องหาข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ดังนั้นสำนักงาน กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรื่องฮั้ว หรือบล็อกโหวต ต้องเอาผิดตามมาตรา 71 คือการรับให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ อันนี้เข้ากฎหมายแน่นอน แต่ถ้าชวนกันมา หรือแลกคะแนนโดยไม่เสียเงิน นี่เป็นปัญหาทางกฎหมาย อย่างที่บอกว่า ระเบียบเราถูกยกเลิกไป ทำให้เราเอากฎหมายไปจับได้แค่ไหน อย่างไร แต่เราจะรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดในทุกเรื่อง ขณะนี้ที่ทำคือในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ในโรงแรม เราไปตรวจสอบว่า มีใครเข้าไปพัก กลุ่มไหนพัก ใครจอง ใครจ่าย ลงทะเบียน ใครให้เงิน แบบนี้ พวกนี้มี 2 เรื่องคือ 1.การจัดเลี้ยง มีการให้เงิน หรือประโยชน์หรือไม่ 2.ใครจัดเลี้ยง ตรงนี้สามารถทำให้ผิด 2 กระทงได้ นี่คือภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้น ที่สื่อให้ความสนใจ พูดกว้าง ๆ ให้รับทราบก่อน

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการยื่นคำร้องมาแล้วกี่เรื่อง ตั้งแต่การเลือก สว.ระดับอำเภอ จังหวัด จนระดับประเทศ นายแสวง กล่าวว่า มีทั้งหมด 614 คำร้อง จำแนกเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อคิดเป็น 65% ส่วนคำร้องไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ ลงคะแนน กระจายกันไป รวมทั้งการนับคะแนน เจ้าหน้าที่ขานคะแนนในวันเลือก โดยในชั้นอำเภอร้องมากที่สุด คดีเหล่านี้เราให้ใบส้มไป กำลังดำเนินการขึ้นมา ส่วนคำร้องระดับจังหวัดมี 75 เรื่อง ส่วนระดับประเทศยังไม่มี

เมื่อถามว่า ในคำร้องทั้งหมดมีเรื่องพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า กรณีร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ มีอยู่ 3% จากทั้งหมด 614 คำร้อง

เมื่อถามว่า ขณะนี้ได้ว่าที่ สว.ชุดใหม่ 200 คน มีการตรวจสอบตามข้อสังเกตหรือไม่ว่า กลุ่ม สว.ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคหนึ่งกระจุกตัวเยอะมาก จะรับไปตรวจสอบหรือไม่ หรือต้องรอมีคนมาร้องก่อน นายแสวง กล่าวว่า เราตรวจสอบอยู่แล้ว คำร้องเดิมก็มีลักษณะเช่นนี้ แต่อยู่ที่ว่าตรวจสอบแล้ว ผิดกฎหมายหรือไม่ เข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เราถึงพยายามจะเอากฎหมายไปใช้ให้ได้ ถ้าให้การเลือกสุจริตและเที่ยงธรรม คนบอกว่ามีโพย มีบล็อกโหวต แต่ไม่มีใครกล้าพูดว่าผิดกฎหมายสักคน นอกจากเราไปสืบแล้วไปเห็นว่า เรื่องแบบนี้ที่มาเป็นกลุ่มก้อน มีการให้เงิน มีการให้ประโยชน์ มีการจัดเลี้ยง เรากำลังหาหลักฐานตรงนี้มาสนับสนุน ซึ่งถ้ามีแบบนี้ผิดกฎหมายแน่นอน อย่างที่คนไปเจอโรงแรมก่อนจะมาเลือก กลุ่มคนมาก่อน 3-4 วัน ไปรวมตัวกัน ก็มีหลายโรงแรม ถามว่าเขารวมกันเป็นสิทธิตามกฎหมาย นอกจากเขาไปทำเกินกว่ากฎหมายห้าม เช่น รับจัดเลี้ยง ให้ค่ารถ ค่าที่พัก ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องหา

เมื่อถามถึงวานนี้ในการเลือกระดับประเทศ มีรายงานว่าผู้สมัคร สว.บางคนเข้าห้องน้ำค่อนข้างนาน สายสืบ กกต.ได้ตรวจสอบว่า มีการเจรจาหรือคุยกันในลักษณะแลกคะแนนโหวตหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ตนก็เข้าห้องน้ำชายหลายรอบ มีคนของเราอยู่ในนั้น ยอมรับว่ามีผู้สมัคร สว.บางคนคุยกันจริง แต่จับยาก เหมือนโพย เขาอ้างว่าทำการบ้านมา ทำให้คนเข้าไปในห้องน้ำคงคุยกันบ้าง แต่ถามว่าจะไปแลกโพยอะไรกันในนั้น คุยกันมันมี แต่มีคนของเราตามเข้าไป คนของ กกต.ที่ประจำในนั้นเลยก็มี เขาก็ทักทายกันปกติ ทั้งนี้ไม่พบการจ่ายเงินในห้องน้ำ จึงขึ้นอยู่ที่การสืบสวนแล้วว่า จะมีการจ่ายเงินทีหลังหรือไม่ สมมติตัวอย่าง เขาบอกว่าคนกลุ่มนี้ได้คะแนนใกล้กัน อาจไปดูช่องทางการเงินเขาได้ เราก็หาวิธี แต่การมาจ่ายเงินในห้องน้ำ คิดว่าไม่มี เราก็ดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นประเด็นคนที่ได้คะแนนเท่ากัน หรือคนที่ได้ 0 คะแนน เราต้องหาว่าคุณถูกจ้างหรือไม่ คุณได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ซึ่งคำว่าประโยชน์กว้างมาก แต่เราต้องพิสูจน์

“เรื่องการเลือก คิดว่าน่าจะจดมาจากบ้านแล้ว ทำการบ้านมาแล้ว ถ้าจะทำ เขามีข้อมูลก่อนแล้ว คนน่าจะตัดสินใจมาจากที่ข้างนอก แต่ กกต.ไม่ให้เอาเอกสารใด ๆ ติดตัวเข้าไป ไปคุยกันมี เป็นเรื่องปกติ คำว่าคุยคือ ไม่รู้เขารู้จักกันหรือไม่ ไม่ทราบ ถ้าเขาไม่ได้จ่ายเงิน แล้วผิดอะไร ถ้าระเบียบเก่าเราถึงเอาผิดเขาได้ แต่ระเบียบใหม่เอาผิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้จ่ายเงิน” นายแสวง กล่าว

เลขาธิการ กกต.อธิบายถึงสาเหตุที่การเลือก สว.วานนี้ใช้เวลานานกว่า 18 ชั่วโมงว่า เราก็ไม่คิดว่ามันจะนาน อย่างแรกคือ ตอนเช้ามีหน่วยประมาณ 150 คนต่อกลุ่ม ใช้เวลาลงเลขอารบิก 10 หมายเลข ต้องมาอ่านแต่ละกลุ่ม 1,500 ชื่อ อ่านช้า เพราะเราต้องการความชัดเจน ไม่ต้องการให้คนประท้วง พอช่วงบ่ายเลือกรอบไขว้ คิดว่าคน 40 คนจะใช้เวลาน้อย แต่นับเป็นสาย สายหนึ่งใช้เวลาอ่าน 8,000 ครั้ง เพราะมี 4 กลุ่ม ด้วยการที่เราไม่ให้เอาโพยเข้าไป ผู้สมัคร สว.ที่ทำการบ้านมา ท่านก็ให้ความร่วมมือโดยดี แต่เวลาไปลงคะแนน ใช้เวลามากกว่าเดิม บางท่านใช้เวลา 12 นาทีต่อคน ทำให้นาน และอ่านช้า ๆ ทีละกลุ่ม ตอนเช้าอ่าน 20 กลุ่มพร้อมกัน ตอนเย็นอ่านแต่ละสายพร้อมกัน แต่ละสายมี 5 กลุ่ม ต้องอ่านทีละกลุ่มในสายนั้น ใช้วิธีขีด 4 กระดานพร้อมกัน ทำให้ช้า เพื่อความแน่นอน จึงใช้เวลา มันไม่ได้หยุด แต่ด้วยกระบวนการแบบนี้ เร่งก็ไม่ได้ ถ้าเร่งก็จะรวนทันที 

เมื่อถามถึงช่วงหนึ่งในการขานคะแนน มีผู้สมัคร สว.บางคนโวยว่า ขานคะแนนอีกอย่างหนึ่ง แต่คะแนนที่ออกมาหายไป นายแสวง กล่าวว่า เราอ่านช้า เพราะทุกคะแนนสำคัญมาก เหมือนคนจะได้เป็นแล้ว ขั้นสุดท้ายแล้ว ดังนั้นเราอ่านช้า ชัดเจน โปร่งใส มีท่าทีเป็นมิตร แต่ต้องเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลา เราบอกว่าเรามีกล้องวงจรปิด 4 ตัวดูแต่ละกลุ่ม เพื่อดูพฤติกรรมคน ซึ่งศาลจะใช้ตัดสินถ้ามีการร้องเกิดขึ้น 

เมื่อถามถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้สมัครที่เป็นคนดัง และนักการเมืองหลายคนตกรอบ มีความเห็นอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ไม่มีความเห็น ตนมองผู้สมัครทุกคนเท่ากันหมด

เมื่อถามว่า ในการเลือก สว.ครั้งหน้า จะใช้เวลานานแบบนี้อีกหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ถ้ายังใช้ระบบนี้อยู่ อย่างน้อยต้องดีขึ้น แต่ใช้เวลาแน่นอน เราจะรับมือยากขึ้นเหมือนกัน เพราะนักการเมืองจะมีการเตรียมการมากขึ้น เราต้องรับมือในส่วนของเราให้ได้ เชื่อว่าการบริหารจัดการ คิดว่าจะดีขึ้น แต่ตอนนั้นคงไม่ใช่ตนทำแล้ว

ส่วนประเด็นผู้สมัคร สว.บางคนคุณสมบัติไม่ตรงตามกลุ่มอาชีพที่ลง กกต.จะพิจารณาอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า เมื่อวานได้คุยกับผู้สมัครบางคนในประเด็นนี้เช่นกัน เหมือนท่านบอกว่า ถ้าเป็นวิชาชีพต้องมีองค์กรรับรอง แต่ถ้าไปดูตามกฎหมาย ระบุว่า ไม่ต้องมีองค์กรรับรองก็ได้ กฎหมายอยากให้ประชาชนมาสมัครได้ โดยไม่ต้องมีคนรับรอง ความรู้คือความรู้จริง ๆ ไม่ใช่จากใบปริญญา ให้ทุกคนมาสมัครได้ กฎหมายออกแบบว่า 20 กลุ่มอาชีพครอบคลุมสุด ออกแบบให้คิดว่าน่าจะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยได้ และให้ทั้งตัวเองเป็นผู้ถูกเลือกได้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกได้ แตกต่างจาก สส.

“มีข้อสังเกตมากมายว่า ทั้งเรื่องจำนวนเงิน เรื่องที่ว่าใช่หรือไม่ เหมือนกลุ่มอาชีพ มีช่องว่างให้คนทำผิดไปจากเจตนารมณ์หรือไม่ บางทีกฎหมายก็ไม่อาจดูแลพฤติกรรมคนได้ทุกอย่าง เห็นหลายตำแหน่ง มีคนร้องเข้ามา อย่างที่บอกว่า ในคำร้องมากที่สุดคือเรื่องคุณสมบัติ” นายแสวง กล่าว

เมื่อถามว่า หากย้อนกลับไปได้ อยากแก้ไขหรือปรับอะไรหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายิบย่อยเช่นนี้ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เกินกำลังคนตัวเล็ก ๆ อย่างตน เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน เหมือนสภาฯออกแบบมาอย่างนี้ เรามีหน้าที่ทำ ทำให้ดีที่สุด คนเราดูหน้าตากัน ตอนนี้เห็นแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร บางคนบอกว่ารอไปก่อน หรือทำผิดแล้วสอยทีหลังเรื่องปกติ แต่ถามว่าได้อย่างที่เราออกแบบไว้หรือไม่ ตอนนี้กฎหมายได้ใช้แล้ว เราแก้อะไรไม่ได้แล้ว นอกจากเจอคนทำผิด เราค่อยควักออก

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...