ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
สภาเภสัชฯ ชู “30 บาทรักษาทุกที่ที่ร้านยา” ครึ่งปี “ฉลุย” เล็งเป้า 5,000 แห่ง ปี 2568
02 ก.ค. 2567

ผ่านมาแล้วครึ่งปี สำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งนอกจากการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยบริการแล้ว ได้มีการดึงคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท อย่างเต็มรูปแบบถึง 7 วิชาชีพ ได้แก่ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกการแพทย์แผนไทย และร้านยาคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ได้รับบริการทางการแพทย์ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า การดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ถือเป็นความก้าวหน้าในการจัดบริการทางการแพทย์ ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการโดยสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงหรือมีอาการไม่ซับซ้อน สามารถไปรับบริการได้ที่คลีนิคต่างๆ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชักชวนร้านยาภาคเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมในโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ร้านยาจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการสุขภาพ จากเดิมการบริการของร้านยามักจะถูกมองว่า เป็นธุรกิจการค้า มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการบริการทางวิชาชีพ โดยสภาเภสัชกรรมต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน มานานกว่า 10 ปี ว่าร้านยาเป็นการบริการวิชาชีพ เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ

“กระทั่งถึงจุดเปลี่ยน ช่วงการระบาดของโควิด-19 ร้านยาได้มีบทบาทในการดูแลประชาชนที่ติดโควิค กลุ่มสีเขียว ผลจากความร่วมมือครั้งนั้น ทำให้ สปสช. เกิดความมั่นใจ จนกระทั่งมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทำให้ร้านยามีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทองมากขึ้น บรรดาผู้ด้อยโอกาส หาเช้ากินค่ำ สามารถเข้าไปรับบริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ที่ร้านยาได้เลย”

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา สภาเภสัชกรรมได้สนับสนุนให้ร้านยาเข้าร่วมโครงการฯ ให้มากที่สุด แต่ร้านยาอาจจะยังลังเลใจ เพราะมีภาพจำเก่าๆ ว่า สปสช. จ่ายเงินช้า การเข้าร่วมมีความยุ่งยาก และมีภาระในการบันทึกต่างๆ สภาฯ ได้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิก โดยใช้กลไกเภสัชกรที่ประจำอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ช่วยชี้แจงข้อมูลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การเบิกจ่ายที่ สปสช. สามารถจ่ายเงินได้ใน 3 วัน อีกทั้งยังได้ประสานงานกับสมาคมร้านขายยา จัดประชุมชี้แจงเพื่อคลายความกังวลในประเด็นต่างๆ โดยทางสภาฯ เองก็ได้เดินสายไปชี้แจงทำความเข้าใจในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ร้านยาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น

นอกจากนี้ สภาเภสัชกรรมยังทำหน้าที่กำกับติดตาม และประเมินรับรองคุณภาพการให้บริการของร้านยาที่เข้าร่วมดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเข้ารับบริการ อีกทั้งก่อนให้บริการก็จะมีการจัดอบรม ทบทวนความรู้ เกี่ยวกับกลุ่มอาการและรายการยาที่สามารถให้บริการด้วย ซึ่งการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ และเรื่องการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ในโครงการลดความแออัดของโรงพยาบาล ร้านยาทุกร้านสามารถเข้าร่วมได้ โดยจะต้องเข้ารับอบรมในเรื่องวิชาการและระบบการให้บริการ รวมถึงการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เสียก่อน ซึ่งร้านยาทั่วไป ถ้าต้องการร่วมให้บริการ ก็สามารถลงทะเบียนกับสภาเภสัชกรรม เพื่อเข้ารับการอบรม โดยจะมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำการยกระดับคุณภาพของร้านยา ให้เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด

“ปัจจุบัน มีร้านยาทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,000 แห่ง ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยกว่า 2 ล้านครั้ง และมีการติดตามผลการให้บริการ ภายหลัง 3 วัน ถือได้ว่าเป็นหน่วยบริการเดียวที่มีการติดตามผลการให้บริการด้วย ซึ่งในจำนวนนี้ 90% หายจากอาการที่เป็นอยู่ ในภาพใหญ่ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี สภาฯ ตั้งเป้าให้มีร้านยาเข้าร่วมมากถึง 5,000 แห่ง เพื่อทำให้มีอัตราส่วนร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการ ต่อประชากร 1 : 10,000 และคาดว่าภายในปี 2568 จะสามารถเพิ่มจำนวนได้ตามเป้า หรืออาจจะมากกว่านี้”

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปในอนาคตคือการพัฒนาระบบส่งต่อ ในกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย มารับบริการที่ร้านยาแล้วไม่หาย อาการยังไม่ดีขึ้น หรือเภสัชกรคิดว่าอาการนั้นๆ น่าจะต้องไปพบแพทย์มากกว่า ซึ่งการที่จะส่งต่อไปที่คลินิกแพทย์ หรือโรงพยาบาล จำเป็นจะต้อง set ระบบให้ชัดเจน ถ้ามี fast track ด้วยก็ยิ่งดี เพราะเมื่อประชาชนรู้สึกว่า เมื่อไปที่ร้านยาก่อนแล้ว ถ้าไม่หาย ก็สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้รวดเร็ว ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้ระบบปฐมภูมิมีความเข้มแข็งมากขึ้น

“เมื่อเราเพิ่มจำนวนร้านยาได้ตามเป้า 5,000 แห่งแล้ว ต่อไปก็จะโฟกัสในด้านการกระจายตัวของร้านยา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน แต่ในเชิงธุรกิจก็ต้องยอมรับว่า บางพื้นที่อาจไม่คุ้มที่จะขยายร้านยาลงไปถึงระดับอำเภอ/ตำบล แต่ถ้าจุดไหนที่จำเป็น อาจจะมีโมเดลการจ่ายเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ร้านยาอยู่รอดได้ หรืออาศัยความร่วมมือของร้านยาใหญ่ๆ ในจังหวัด เข้าไปช่วยเหลือหรือร่วมลงทุนเปิด ในจุดที่จำเป็นจะต้องมีร้านยาเพิ่มขึ้น” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 ตุลาคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...