ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางบุญเจือ แก้วสม อยู่บ้านเลขที่ 73/1 หมู่ที่ 6 ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมืองตรัง เกษตรกรที่พลิกวิกฤตในช่วงราคายางพาราตกต่ำยุค 3 กิโลกรัม 100 บาท ได้หันมาเลี้ยงหมูหลุมเพื่อลดต้นทุน แต่กลับมีกำไรงดงามหลายเท่าตัว โดยคำแนะนำ และการสนับสนุนจาก ส.ป.ก.ตรัง กศน.อำเภอเมืองตรัง พัฒนาชุมชนตรัง และ ธ.ก.ส.ตรัง
ซึ่งหมูหลุมจะเป็นการเลี้ยงตามแนวทางเกษตรธรรมชาติ และเน้นการใช้จุลินทรีย์ ทำให้หมูไม่เครียด อารมณ์ดี มีความต้านทานโรค เนื้อแดงมาก มีไขมันน้อย เมื่อชำแหละแล้วจะมีรสชาติอร่อย ไม่ติดมันไม่มีกลิ่นคาว และไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวน เนื่องจากอาหารที่ให้หมูกินคือ หยวกหมัก พืชผักนานาชนิด ผสมกับอาหารสำเร็จรูป ส่วนพื้นคอกยังนำไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น
อีกด้วย
นางวรรณี ช่วยมี เกษตรกรชาวตำบลนาโต๊ะหมิงอีกราย กล่าวว่า ข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุมว่า จะไม่มีกลิ่นไปรบกวนเพื่อนบ้าน แมลงวันน้อย ไม่มีน้ำเสีย แถมยังได้ปุ๋ยชีวภาพ จึงมีต้นทุนต่ำ กำไรงาม โดยเฉลี่ยแล้วเลี้ยง 1 คอก หมูประมาณ 10 ตัว จะมีกำไรครั้งละ 30,000-40,000 บาท อีกทั้งมูลของหมูหลุมที่เลี้ยงก็สามารถนำมาขายได้ประมาณครั้งละ 10,000 บาทด้วย
ส่วนระยะเวลาในการจับขายได้นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน โดยหมูจะมีน้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม นำไปจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 150-160 บาท ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.นาโต๊ะหมิง ส่วนใหญ่ได้หันมารวมกลุ่มกันเลี้ยงหมูหลุมเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นถึงกำไรที่ได้เป็นกอบเป็นกำ ดีกว่าการทำสวนยางพารา หรืออื่นๆ ในช่วงราคาตกต่ำ
นายนิกร ไพลิน นักวิชาการปฏิบัติการชำนาญการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทาง ส.ป.ก.ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัว โดยการส่งเสริมให้เลี้ยงหมูหลุม เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ซึ่งผลกำไรที่ได้ถือว่าคุมค่า และยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตเป็นอย่างมาก
เนื่องจากหมูหลุม เป็นหมูที่ปลอดสารพิษ และเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ โดยไม่มีการฉีดยาเร่งเนื้อแดงแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากหมูป่วย หรือท้องเสียจะแก้ด้วยการให้หมูกินใบฝรั่ง หรือกล้วยดิบ เพื่อลดอาการท้องร่วง นอกจากนั้น หมูหลุมยังจำหน่ายได้ราคาดีกว่าหมูอื่นๆ ในท้องตลาด เพราะเป็นหมูที่ปลอดสารพิษ ส่วนหมูชำแหละทั่วไปจะมีราคาเพียงแค่กิโลกรัมละ 100-150 เท่านั้น