นายทวารัฐ สูตระบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าที่ประชุม กบง. ที่มีนาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมีมติเห็นชอบการออกกฎกระทรวงฯ เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูง เรียกว่า เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) ด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1) สำนักงาน 2) โรงแรม 3) โรงพยาบาล 4) ศูนย์การค้า 5) โรงมหรสพ 6) สถานบริการ 7) อาคารชุมนุมคน 8) อาคารชุด และ 9) สถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุในกฎกระทรวงฯ ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อน และทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 3 ปี โดยมีกรอบการดำเนินงาน ดังนี้
- ปีที่ 1 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
- ปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
- ปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานด้านพลังงานของอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง จะทำให้การ
ใช้พลังงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าร้อยละ 10 โดยมีเป้าหมายว่าภายใน
20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวมประมาณ 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 48,000 ล้านบาท
"สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 (PDP 2015) ไตรมาสที่ 3 ถึง ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่ประชุม กบง. รับทราบ รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 (PDP 2015) ไตรมาสที่ 3 ถึง ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดรับฟังความเห็นค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ (Load Forecast) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งตั้งสมมุติฐานใน 3 ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง (Disruptive Technology) การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (Solar Roof Top) และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะต้องนำมาตั้งสมมุติฐานในการจัดทำแผน PDP เพิ่มเติม โดย PDP ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะแยกการศึกษาเชิงลึก ถึงการใช้และผลิตไฟฟ้าเป็นรายภาค รวมไปจนถึงการศึกษาเพื่อกำหนดประเภทเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต"นายทวารัฐกล่าว