ดีอีตอบรับมติครม.ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) กำหนดเป้าหมายให้ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานนั้น
จากร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1) ซึ่งจากการประเมิน ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 193 ประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติ ในปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (คะแนน 0.766 คะแนน)
ส่วนอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ได้กำหนดค่าเป้าหมายไว้ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 เพื่อให้ใกล้เคียงกับอันดับของประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 23 และ 20
ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้กำหนดนโยบายการเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน โดยได้มุ่งมั่นพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย พร้อมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ และองค์ความรู้ในการใช้งานดิจิทัลในภาคประชาชน
รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัลของภาครัฐ และประชาชน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ประกอบด้วย
1.การใช้ระบบ Paper less ในการบริหารจัดการภายในหน่วยงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดการใช้กระดาษในระบบงานให้เหลือน้อยที่สุด และใช้การจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ซึ่งมีความปลอดภัย สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้สะดวก
2.การให้บริการประชาชน โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนการให้บริการประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว มั่นคงปลอดภัย บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านหน่วยงานภาครัฐ ด้วยระบบ Digital ID เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ Health Link ระหว่างโรงพยาบาล ร้านขายยา และสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI การป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลล โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC
3.การสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมด้านดิจิทัล โดยสร้างองค์ความรู้ ความตระหนักรู้การใช้งานดิจิทัลในหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง-ภูมิภาค และประชาชนทั่วประเทศ ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวง ดีอี และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)
ในรูปแบบของการสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะทั่วประเทศ ภายใต้ “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน และพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ให้ความรู้ด้านดิจิทัลกับประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ การสร้างโครงข่ายบรอดแบรนด์ เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศ โดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนประชาชนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัล การสร้างเมืองอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการบริหารจัดการเมือง ด้านเกษตรอัจฉริยะ สนับสนุนพัฒนาทักษะของเยาวชน และคนรุ่นใหม่ หนุนการสร้าง Start up โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสนับสนุนการทำธุรกิจด้านดิจิทัล การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA
4.การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนภัยออนไลน์ตลอด 24 ชม. พร้อมกับการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบข้อมูล ติดตามเส้นทางการเงิน ฯลฯ รวมทั้งจัดตั้ง GCC 1111 ให้บริการสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอม อาชญากรรมออนไลน์