ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ปตร.ศรีสองรัก ลดแล้ง-ลดท่วม ยกระดับชีวิตชาวเมืองเลย
12 ก.ค. 2567

กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ ก่อสร้าง “ประตูระบายน้ำศรีสองรัก” อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มุ่งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชน

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดเลย เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลย เป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำในพื้นที่ ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน ที่มีลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลมาบรรจบกัน ประกอบกับเป็นแม่น้ำสายสั้น แต่มีพื้นที่รับน้ำมาก ทำให้ในฤดูฝนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันสูง จึงไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตามความเหมาะสมในลำน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลยในเขตอำเภอเชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบนลงมาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำเลยตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากให้กับประชาชนในพื้นที่

กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประกอบด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองช่องลัดใหม่ จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 2,500 ลบ.ม./วินาที โดยในช่วงฤดูน้ำหลาก จะยกบานประตูน้ำขึ้น เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเลยลงสู่แม่น้ำโขง ส่วนในช่วงที่น้ำในแม่น้ำโขงสูง จะทำการปิดบานประตูระบายน้ำลง เพื่อกั้นน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้ไหลเข้ามาในแม่น้ำเลย รวมทั้งทำหน้าที่สำคัญในการทดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำในแม่น้ำเลยไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำเดิม จำนวน 2 ช่อง พร้อมประตูเรือสัญจร ที่มีศักยภาพการระบายน้ำได้สูงสุด 400 ลบ.ม./วินาที

ปัจจุบัน ทั้งโครงการฯ มีผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 77 ของแผนฯ หากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้ถึงปีละ 1.02 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 72,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบลของอำเภอเชียงคาน รวม 44 หมู่บ้าน 9,287 ครัวเรือน ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังสามารถบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคาน สร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง       

      12 กรกฎาคม 2567

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 กันยายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...