บอร์ด สปสช. รับทราบรายงานผลติดตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว เฟสที่ 1 - 3 พร้อมระบุ 4 ประเด็น ที่ต้องพัฒนานโยบายต่อเนื่อง
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 3 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระรับทราบ “ผลการดําเนินงานนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่” ทั้ง 3 เฟส ในพื้นที่นำร่องรวม 45 จังหวัด นำเสนอโดย พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินการฯ ที่นำเสนอต่อที่ประชุม โดยในแง่ของการเข้าถึงบริการโดยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ พบว่ามีจำนวนหน่วยบริการนวัตกรรมเข้าร่วมให้บริการเพิ่มขึ้น จาก 413 แห่ง ในปี 2566 เพิ่มเป็น 1,483 แห่งในปี 2567 และจำนวนการรับบริการ ณ หน่วยนวัตกรรมของประชาชนผู้มีสิทธิเพิ่มขึ้นจาก 125,270 ครั้ง เป็น 630,988 ครั้ง โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่เคยมารับบริการในช่วง1ปีที่ผ่านมา จำนวน 62,853 คน หรือ 5% ของผู้มารับบริการในหน่วยบริการนวัตกรรมทั้งหมด
ในแง่ของการเพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยระยะกลางโดยสะดวก เพื่อลดภาวะพึ่งพิงของผู้ป่วย พบว่าร้อยละของผู้ป่วยที่เข้าถึงการดูแลระยะกลางเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2566 เป็น 28.2% ในปี 2567 โดยมีผู้ป่วยมารับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้นจาก 7.6% เป็น 16.1%
ในแง่ของประสิทธิผล พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดเปลี่ยนจากผู้มีภาวะพึ่งพิงกลับมาสู่ภาวะปกติ 22.9% ขณะที่ผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาล สามารถกลับสู่ภาวะปกติ 12.5%
ในแง่ของการลดรายจ่ายของประชาชน พบว่ายังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปรับบริการลงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดนำร่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ และค่าเฉลี่ยของจังหวัดเปรียบเทียบ โดยในจังหวัดนำร่องมีค่าเฉลี่ยในการไปรับบริการ 511 บาท ส่วนค่าเฉลี่ยของจังหวัดเปรียบเทียบอยู่ที่ 671 บาท ลดลงถึง 160 บาท หรือ 23.8%
นอกจากนี้จากการติดตามยังพบข้อมูลที่สำคัญคือ หลังจากดำเนินการนโยบายนี้ ไม่พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้รับบริการ ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดนำร่องเฟสที่ 1 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่พบว่านโยบายนี้ทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีความแออัดเพิ่มขึ้น
ในส่วนงบประมาณดำเนินการนั้น ในช่วงนำร่องทั้ง 3 เฟส ที่ผ่านมาได้มีการเบิกจ่ายค่าบริการไปแล้ว 672,176,607 บาท โดยยังมีค่าใช้จ่ายที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ยังรอการเบิกจ่าย
“จากข้อมูลที่รายงานนี้จะเห็นได้ว่า จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ได้ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่หน่วยบริการนวัตกรรม ที่มีผู้ป่วยใหม่เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นถึง 5% ขณะที่จำนวนการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดความแออัดของผู้ป่วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นี้ยังมีผลลัพธ์เชิงบวกในด้านอื่นๆ ต่อระบบสุขภาพ อาทิ สภาวิชาชีพมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้เกิดบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการจัดอบรม การลงพื้นที่ เยี่ยมสำรวจ การพัฒนามาตรฐานบริการ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR)
การเชื่อมโยงข้อมูล HIS ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเบิกจ่ายclaim โรงพยาบาลลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบเป็นเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วย เช่น บริการดูแลระยะกลาง ของเครือข่ายกายภาพบำบัดในจังหวัดแพร่ เป็นต้น
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการดำเนินการโครงการฯ แม้ว่าจะมีผลเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องใน 4 ประเด็น คือ
1. การจัดระบบส่งต่อแบบเป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการดูแลที่มีคุณภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กับหน่วยนวัตกรรม และหน่วยนวัตกรรมด้วยกันเอง
2. บริการบางส่วนมีลักษณะเรื้อรัง เช่น การดูแลแผลกดทับ การดูแลระยะกลาง ควรมีผู้ประสานงาน หรือ ผู้จัดการเคส เพื่อให้เกิดการได้รับการดูแลที่ดีอย่างต่อเนื่อง
3. ยังมีความท้าทายเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะระหว่างโรงพยาบาล รพ.สต. กับหน่วยนวัตรรมบริการ และระหว่างหน่วยนวัตกรรมต่างประเภทกัน
และ 4. การพัฒนากลไกกลาง เช่น สปสช. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพ ในการสร้างระบบควบคุมกำกับ เพิ่มกลไกอภิบาลในระดับเขต ระดับจังหวัด เพื่อการกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการ เพิ่มเติมจากกลไกสภาวิชาชีพ