โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” นอกจากจะช่วยให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานบริการทางการแพทย์ตามสิทธิที่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือใช้สิทธิในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิได้ทุกแห่งแล้ว ยังสามารถเข้ารับรักษาเบื้องต้น 32 กลุ่มโรค ในคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ทุกแห่ง
หนึ่งในกลไกและนวัตกรรมที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านและชุมชน คือ “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ที่ได้ยกระดับจากบริการระดับปฐมภูมิ ไปสู่การดูแลรักษาเบื้องต้น 32 กลุ่มโรค ทั้งในและนอกเวลาราชการ จำนวน 1,800 แห่ง ทั่วประเทศ
รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ประธานที่ปรึกษาสภาการพยาบาล และประธานคณะกรรมการพัฒนาคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นในระบบสุขภาพปฐมภูมิ เล่าถึงความเป็นมาของ “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เล็งเห็นถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผู้สูงอายุสูง 28% ของประชากรไทย อีกทั้งปัจจุบันมีผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน ติดเตียง หรือเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังจำนวนมาก การไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทำได้ยากลำบาก สปสช .และ สธ. จึงได้จัดตั้งหน่วยบริการนวัตกรรมขึ้น โดยนำคลินิกบริการทางการแพทย์ของเอกชน มาร่วมให้บริการตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
ในปี 2562 ช่วงที่ตนเป็นนายกสภาการพยาบาล สปสช.มีเป้าหมายให้คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เป็นหนึ่งในหน่วยบริการนวัตกรรม ในระบบบัตรทอง 30 บาท โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนและผลักดันให้คลินิกการพยาบาลฯ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมนำร่องในกรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนจาก นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ซึ่งมีการเชิญชวนคลินิกการพยาบาลฯ 37 แห่ง มาร่วมประชุม แต่มีคลินิกฯ เพียง 6 แห่งเท่านั้นที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม
ต่อมาในปี 2563 จากการประเมินผลคลินิกพยาบาลฯ ทั้ง 6 แห่ง ผลตอบรับคือประชาชนชื่นชอบมาก เพราะสะดวกและมีประสิทธิภาพ แต่คลินิกการพยาบาลฯ จำนวนมาก ยังลังเลใจที่จะเข้าร่วม เพราะขาดความเชื่อมั่นในระบบที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ อีกทั้งกิจกรรมบริการยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร สภาการพยาบาลจึงร่วมกับ สปสช. พัฒนาและขยายการบริการของคลินิกการพยาบาลฯ จากการรักษาโรคเบื้องต้น สู่การให้บริการ 32 กลุ่มโรค ในพื้นที่นำร่อง “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ทำให้คลินิกพยาบาลฯ หลายแห่งตัดสินใจเข้าร่วมมากขึ้น จนปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,800 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ
รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ได้ ในช่วงต้นสภาการพยาบาลต้องเดินสายเข้าหาคลินิกการพยาบาลฯ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียน ระบบเบิกจ่ายของ สปสช. รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริม กลุ่มพยาบาลที่เปิดคลินิกฯ และกลุ่มพยาบาลที่มีความสนใจจะเปิดคลินิกฯ เป็นของตนเอง เพื่อชักชวนให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น
“โครงการบัตรประชาชนใบเดียว 30 บาท รักษาได้ทุกที่ ระยะแรก 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค คณะกรรมการพัฒนาคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ได้ลงพื้นที่เชิญชวนผู้แทนคลินิกพยาบาลฯ และพยาบาลที่สนใจมาร่วมประชุม เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เมื่อคณะฯ ของ สปสช. ลงไปก็สามารถสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น กระทั้งมีนโยบายขยายระยะที่ 2 เป็น 8 จังหวัด ในเดือนมีนาคม 2567 ได้เชิญตัวแทนคลินิกพยาบาลและพยาบาลมาประชุมเบื้องต้น ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อ สปสช. ลงพื้นที่จึงมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมด้วยเป็นจำนวนมาก”
รศ.ดร.ทัศนา กล่าวอีกว่า พยาบาลวิชาชีพที่ให้บริการในคลินิกการพยาบาลฯ ทุกคน หรือบางส่วนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม 30 บาท รักษาทุกที่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ ซึ่งหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ มีวิชาการรักษาโรคเบื้องต้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในจำนวนนี้บางส่วนผ่านการอบรมหลังปริญญา 4 - 6 เดือน ในหลักสูตรเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติแล้ว แต่บางส่วนยังไม่ได้เรียนเพิ่มในหลักสูตรนี้ สภาการพยาบาลกำลังปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสม ทันสมัย เพื่อเพิ่มเติมความรู้และศักยภาพการรักษาพยาบาลของพยาบาล ให้มีคุณภาพ มาตรฐานและมีการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
“เป้าหมาย คือวิชาชีพการพยาบาลจะมีส่วนในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในชุมชนและในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับบริการในระดับปฐมภูมิ ตามขอบเขตของวิชาชีพ ตามกฎหมาย และตามมาตรฐานบริการที่สภาวิชาชีพกำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด” รศ.ดร.ทัศนา กล่าวในที่สุด