‘เดินมิตรภาพ’ จัดเสวนาความมั่นคงทางอาหารก่อนเดินต่อพรุ่งนี้ ระบุนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรและอาหารที่ผ่านมาทำลายความมั่นคงทางอาหาร ฉะร่างกฎหมายเมล็ดพันธุ์เอื้อบริษัทตามเก็บค่าลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้นมะม่วงจนถึงน้ำมะม่วง หวั่นสร้างปัญหาให้เกษตรกรในอนาคต
ประเด็นดังกล่าว ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อชี้แจงต่อสังคมโดยการจัดเสวนาของ กลุ่มเดินมิตรภาพหรือ We Walk เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ ‘นโยบาย กฎหมายที่ส่งผลต่อชุมชนและความมั่นคงทางอาหาร’ ที่วัดดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเด็นที่กลุ่มเดินมิตรภาพต้องสร้างการรับรู้ในสังคมจากการเดินครั้งนี้
เว็บไซต์ประชาไท เปิดรายงานชิ้นนี้ว่าภายในวงเสวนา เอกชัย อิสระทะ จากเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่าผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก พื้นที่การเกษตรในภาคใต้ก็พัฒนาไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างยางพาราและปาล์ม จากพื้นที่ที่เคยมีความหลากหลายก็ถูกตัดโค่นแล้วปลูกยางพาราและปาล์ม ทรัพยากรที่เคยมีตามห้วยหนองคลองบึงก็ปนเปื้อนสารเคมี เป็นการทำลายฐานทรัพยากรอาหาร ทั้งที่แต่ก่อนแต่ละบ้านจะมีพืชผักนานาชนิดในแปลงเดียวกัน
“สิ่งที่เรานำเสนอคือจะทำอย่างไรให้เกิดสวนสมรม สวนผสมผสานให้มากขึ้น สวนยางกลับไปเป็นอินทรีย์ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีก็เพิ่มผลผลิตได้ ช่วยลดต้นทุน และปรับปรุงดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ป่ายางหรือสวนสมรมน่าจะเป็นคำตอบของทรัพยากรอาหาร เป็นพื้นฐานที่เราจะไป การเพิ่มพืชเข้าไปในสวนยาง แต่ก็ขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรแต่ละครอบครัวว่ามีฐานทรัพยากรชีวิตอย่างไร”
แต่เอกชัยยอมรับว่าอุปสรรคยังอยู่ที่รัฐที่ยังไม่มีนโยบายการปลูกยางอินทรีย์อย่างจริงจัง แม้จะมีงานวิชาการที่ยืนยันเรื่องเหล่านี้อยู่มากแล้ว แต่การรับรองและขยายผลโดยภาครัฐแทบจะไม่ได้ทำ เฉพาะแรงผลักดันของเครือข่ายก็ยากที่ผลักดันได้
ด้านกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก (food4change) ได้ตั้งคำถามว่าประเทศไทยกำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรและอาหารอย่างไร ทำไมจึงมาถึงจุดที่หาของกินที่มีคุณภาพไม่ได้ เกษตรกรรายย่อยไม่อยากให้ลูกหลานตัวเองมาทำอาชีพเกษตรต่อ เป็นหนี้เป็นสิน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ และเป็นปรากฏการณ์ปัญหาที่วิกฤติหนักขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นอาหารไม่ปลอดภัยรอบตัวเรา
กิ่งกรกล่าวต่อว่าที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจหลัก ๆ หกเจ็ดตัว การสร้างโครงการขนาดใหญ่ แล้วไปทำลายพื้นที่ผลิตอาหารคุณภาพ
“เรากำหนดนโยบายการเกษตรที่ตัดมือตัดตีนเกษตรรายย่อยมาโดยตลอด ส่งเสริมบทบาทของบรรษัทอย่างมากและมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมองไปข้างหน้าก็ยังเป็นนโยบายชุดเดิมที่ส่งเสริมบรรษัทขนาดใหญ่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยแบบที่ไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ สุดท้าย คนกินก็กำหนดไม่ได้ว่าจะกินอะไร”
“ถ้าเราตั้งโจทย์ความมั่นคงทางอาหารว่าคือการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เท่าเทียม ผู้ผลิตรายย่อยอยู่รอดได้ คำถามคือมันควรเป็นนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรแบบไหน สิ่งที่เป็นตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ดังกล่าว การจะทำได้ มันต้องการกระบวนการทางการเมืองที่เข้มแข็งของคนเล็กคนน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไปไม่ค่อยถึง” กิ่งกร ระบุ
ในด้านของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ อุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อธิบายว่าความประสงค์สำคัญของบริษัทเกษตรในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมล็ดพันธุ์ก็คือ ต้องการสิทธิหวงกันในส่วนขยายพันธุ์ ต้องการสิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายแจกแต่เพียงผู้เดียวมากขึ้น กฎหมายบอกว่าให้สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ แต่ในมาตราเดียวกันก็เขียนต่ออีกว่าโดยอำนาจของรัฐมนตรีสามารถจำกัดการใช้สิทธิในพันธุ์ได้ กลายเป็นว่าบริษัทอาจขอให้คุ้มครองพันธุ์ของบริษัทด้วยเหตุผลว่าลงทุนวิจัยก็ได้ ตรงนี้คือสิทธิที่บริษัทอยากได้มากขึ้น รวมทั้งประเด็นระยะเวลาในการคุ้มครองสิทธิที่ต้องการให้เพิ่มขึ้นจาก 20 ปีเป็น 25 ปี
“ประการต่อมาคือขอขยายการคุ้มครองไปถึงผลิตภัณฑ์ สมมติว่าถ้าปลูกมะเขือเทศของบริษัทแล้วเอาไปทำซอสหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ กฎหมายให้บริษัทมีสิทธิในผลิตภัณฑ์ได้ อาจต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับบริษัท นี่คือเนื้อหาที่ผ่านร่าการรับฟังความคิดเห็นของกรมวิชาการเกษตร มันจะมีผลทำให้เกษตรกรใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น”
“ยังมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่พูดถึงการขอสิทธิ์ในลักษณะเฉพาะ เช่น พันธุ์พืชที่บริษัทพัฒนาขึ้นแล้วมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่นมะเขือเทศเปลือกหนาขนส่งแล้วไม่ช้ำง่าย แบบนี้จะขอสิทธิคุ้มครอง หมายความว่าถ้าลักษณะนี้ไปปรากฏในพืชของเรา เราเอาพืชของบริษัทไปผสมในพืชของเรา แล้วปรากฏลักษณะที่มาจากยีนของบริษัท เราจะมีความผิดด้วย เราต้องพิสูจน์ว่าได้มาจากการซื้อเขา ไม่ได้ขโมยมา อาจสร้างปัญหาได้ในอนาคตถ้าเรายอมรับกฎหมายลักษณะนี้” อุบล ระบุ
นอกจากนี้กิ่งกร ยังได้กล่าวเสริมให้เห็นภาพต่อประเด็นร่างกฎหมายเมล็ดพันธุ์ว่า สมมติเกษตรกรซื้อกล้ามะม่วงเขียวทอง 1 กล้าจากบริษัท ซึ่งขึ้นทะเบียนเรียบร้อยตามกฎหมายฉบับใหม่ ต้นนี้จะมีผลผลิตต่อปีประมาณ 30 กิโลกรัม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่บริษัทประมาณการไว้แล้ว 30 กิโลกรัมนี้จะไม่โดนเก็บเงิน แต่ถ้าเกิน 30 กิโลกรัม บริษัทมีโอกาสไปเช็คได้ ถ้าเกษตรกรรายนี้ซื้อไปต้นเดียวแต่มีมะม่วง 100 กิโลกรัม ก็จะเกิดคำถามว่า อีก 70 กิโลกรัมมาจากไหน
“บริษัทไปเก็บค่าต้นไม่ได้ เพราะเกษตรกรไปขยายกล้าพันธุ์เอง แต่บริษัทจะไปเก็บค่าสิทธิบัตรจากผลผลิต 70 กิโลกรัมได้ สามารถไล่จิกได้จนถึงลูกมะม่วง หรือถ้าเอามะม่วงไปกวนหรือทำน้ำมะม่วงก็ตามไปเก็บได้ นี่คือลักษณะการคุ้มครองของกฎหมายที่ขยายการคุ้มครองในลักษณะสิทธิบัตรจนถึงยีน” กิ่งกร ระบุ