กสร. ยกระดับศักยภาพนายจ้าง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในงานประมงทะเล หวังช่วยลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยในการทำงานบนเรือให้ถูกต้อง
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พัฒนาศักยภาพนายจ้าง เจ้าของเรือ และลูกจ้างในงานประมงทะเล หวังยกระดับความรู้ สร้างความเข้าใจกฎหมายด้านความปลอดภัยในงานประมง มุ่งไปสู่การลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยในการทำงานบนเรือประมงได้อย่างถูกต้อง
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน หนึ่งในความห่วงใยที่สำคัญคือ ความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานถือเป็นหน่วยงานในการกำกับของกระทรวงแรงงาน ที่รับผิดชอบดูแลงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของนายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน ความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ รวมถึงในงานประมงทะเลด้วย โดยได้ดำเนินการ พัฒนามาตรฐาน เพิ่มศักยภาพของบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในมิติต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังว่าบุคลากรเหล่านั้นสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยได้อย่าง มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ให้แรงงานมีความปลอดภัยในการทำงาน
ด้านนางวัชรี มากหวาน รองอธิบดี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านความปลอดภัยแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมได้จัดอบรมโครงการเร่งรัดการพัฒนา ส่งเสริม และป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในงานประมงทะเลรุ่นที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมหรือป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี พ.ศ. 2567 จากสำนักงานประกันสังคม โดยได้เชิญนายจ้าง เจ้าของเรือ สมาชิกสมาคมประมงจังหวัด และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในงานประมงทะเล จำนวน 50 คน มาพัฒนาศักยภาพ ยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานประมงทะเล กฎหมายคุ้มครองแรงงานในประมงทะเลได้อย่างถูกต้อง รวมถึงกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และมี ทักษะในการแก้ไขสถานการณ์อันอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยบนเรือเมื่อประสบเหตุในเบื้องต้นได้ ณ สมาคมการประมงสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผู้ที่ผ่านโครงการนี้ จะได้รับรู้และตระหนักถึงการ ดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สามารถบริหารจัดการและ ดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานบนเรือประมงได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานในงานประมงทะเล แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานได้ตามเป้าหมายต่อไป