ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
วราวุธ ย้ำไม่ให้เงินขอทาน พร้อมแจ้งสายด่วน 1300 หลังจัดระเบียบพัทยา พบขอทาน 11 คน
23 ก.ค. 2567

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าว กลุ่มขอทานต่างด้าว 10 กว่าราย มีทั้งเด็กทารกแรกเกิด เด็กเล็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ นั่งนอนขวางถนนเพื่อขอทานผู้ใจบุญตามจุดต่าง ๆ ในงานวัดชัยมงคลพระอารามหลวง พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี และสื่อรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มขอทานต่างด้าวจะกลับเข้ามาในพื้นที่อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขอทานต่างด้าวกลุ่มเดิมๆ ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปทำประวัติ แล้วกลับมาขอทานซ้ำอีก 
นายวราวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี (ศรส.จังหวัดชลบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองชลบุรี และฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักปลัดเมืองพัทยา ลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในเมืองพัทยา 3 แห่ง คือ 1) วัดชัยมงคลพระอารามหลวง พัทยาใต้ 2) บริเวณชายหาดพัทยา และ 3) บริเวณถนนพัทยาสาย 2 ซึ่งพบผู้ทำการขอทาน ทั้งหมด 11 คน พร้อมผู้ติดตาม ประกอบด้วย คนไทย 3 คน และคนสัญชาติกัมพูชา จำนวน 8 คน โดยมีการนำเด็กมานั่งทำการขอทานด้วย ซึ่งเด็กอายุต่ำสุด เพียง 1 ปี 2 เดือน และเด็กอายุสูงสุด 9 ปี


นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทีม ศรส.จังหวัดชลบุรี พร้อมทีมสหวิชาชีพได้ดำเนินการสอบประวัติ และทำบันทึกจับกุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พร้อมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา เพื่อดำเนินการตามกฏหมาย โดยได้ลงบันทึกประจำวัน ถูกเปรียบเทียบค่าปรับ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 8 รายที่เป็นสัญชาติกัมพูชา และคนไทย 3 ราย ถูกเปรียบเทียบปรับและทำบันทึกตักเตือน พร้อมทั้งจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อจะได้ไม่กลับมาทำการขอทานซ้ำอีก


นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานจากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบผู้ทำการขอทานจำนวนทั้งสิ้น 467 ราย เป็นคนไทย 307 ราย และเป็นคนต่างด้าว 160 ราย โดยมีสัญชาติกัมพูชามากที่สุดถึง 130 ราย รองลงมาเป็นเมียนมาร์ 18 ราย สปป.ลาว 4 ราย จีน 5 ราย และไร้สัญชาติ 3 ราย  สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่พบขอทานเป็นอันดับ 2 คือจำนวน 39 ราย รองลงมาจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 156 ราย รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ 21 ราย และจังหวัดภูเก็ต 19 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นจังหวัดใหญ่และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของขอทาน


นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่มีขอทานอยู่เป็นระยะนั้นคือ ทุกคนพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่ามาขอทานที่เมืองไทยรายได้ดี โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี หรือภูเก็ต ซึ่งการที่มีรายได้ดีนั้นแปลว่ามีคนที่คอยให้ทานกับกลุ่มคนเหล่านี้ และการกระทำขอทานในประเทศไทยนั้นถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นถ้าหากว่าท่านใดให้ทานกับขอทานก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้กับขอทานเหล่านี้ ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าหากพบเห็นขอทาน เราไม่ควรให้เงินด้วยความสงสาร เพราะการขอทานเป็นการกระทำผิดกฎหมาย หยุดการให้ขอทานเหล่านี้ แล้วจะทำให้จำนวนขอทานในประเทศไทยนั้นลดลงไป อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นขอให้พี่น้องประชาชนโทรแจ้งมาที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...