กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานศาลยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ก่อนฟ้องคดี
เปิดโอกาสให้เจรจาหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธีโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และยุติความขัดแย้งด้วยความสมานฉันท์ ช่วยรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างกัน เผย แต่ละปี มีคดีฟ้องร้องทางการแพทย์ไม่น้อยกว่า 30 คดี เสียค่าใช้จ่ายคดีละประมาณ 2 แสนบาท
วันนี้ (23 กรกฎาคม 2567) ที่อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ก่อนฟ้องคดี โดยมี นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะสูง สร้างความ ไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน และส่งเสริมให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี เพื่อให้การจัดบริการ ทางการแพทย์และสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขณะที่ศาลยุติธรรมมีการนำวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้ควบคู่ไปกับการพิจารณาคดี โดยมุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในทุกขั้นตอนเพื่อให้ความขัดแย้งยุติลงด้วยความสมานฉันท์ในสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ามีการฟ้องร้องคดีทางการแพทย์เฉลี่ยปีละ 30 คดี มีค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 บาทต่อคดี ทั้งสองหน่วยงานจึงบูรณาการ ความร่วมมือกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยสำหรับข้อพิพาททางการแพทย์ โดยความยินยอมของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี ช่วยรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันและเกิดความสมานฉันท์ในสังคม
ด้าน นายธานี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นไปตามภารกิจหลักของศาลยุติธรรมและนโยบายของประธานศาลฎีกา ข้อ 1 "ที่พึ่ง" มุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในทุกขั้นตอน เพื่อให้ความขัดแย้งยุติลงด้วยความสมานฉันท์ ไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายแก่คู่ความ เพื่อให้ศาลยุติธรรมพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในโอกาสแรกที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาท โดยคู่กรณีสามารถดำเนินการด้วยตนเอง มีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ยุ่งยากและใช้เวลาไม่มาก ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุน การเชื่อมโยงเครือข่ายการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี สนับสนุนให้มีการส่งต่อข้อพิพาททางการแพทย์จากศูนย์ไกล่เกลี่ยของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขไปยังศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาล รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทของศาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องให้แก่บุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นถึงประโยชน์ ของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง อันจะเป็นประโยชน์แก่การให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น