กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดติดตั้งระบบงานร้านค้าปลีก ไปรษณีย์ขลุง จันทบุรี พร้อมประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมสินค้าและบริการชุมชน เร่งสร้างความรู้ให้กับประชาชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดเป็นอีคอมเมิร์ซ ใช้จุดแข็งของไปรษณีย์ไทยที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่วยกระจายสินค้า ตั้งเป้าติดตั้งจุด POS ครบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ภายในปี 2561
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดติดตั้งระบบงานร้านค้าปลีก (Point Of Sale : POS) ณ ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตเอกชนขลุง 105 ต.ตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี ว่า การเดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ไปรษณีย์ขลุงครั้งนี้ นอกเหนือจากการได้มาพบปะชาวบ้านแล้ว ยังได้เห็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสิ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ คือ โครงการร้านค้าดิจิทัลชุมชนด้าน E-Commerce เพื่อเป็นการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโครงการ "เน็ตประชารัฐ" เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนผ่านการขายสินค้าและบริการท้องถิ่นในรูปแบบออนไลน์เข้ามาติดตั้งให้ ประชาชนสามารถทำเองได้ ซึ่งใช้เวลาเรียนรู้เพียง 2-3 วันเท่านั้น โดยกระทรวงดิจิทัลฯ จะเป็นผู้แนะนำและสอนวิธีการใช้งานนำข้อมูลและภาพขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อผลักดันสินค้าและบริการในพื้นที่ที่มีคุณภาพ เช่น สินค้า OTOP และโฮมสเตย์ เป็นต้น
การดำเนินการร้านค้าปลีก (Point Of Sale : POS) ของไปรษณีย์ขลุง ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักสำคัญ คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ โดยมีวิธีการรับซื้อ (Order) ขายสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งในหลายพื้นที่ที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้นได้รับผลตอบรับที่ดีมาก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การสร้างงานในชุมชนในรูปแบบการกระจายสินค้า เยาวชนอยู่ติดพื้นที่ ครอบครัวมีความอบอุ่น หมู่บ้านเข้มแข็ง ทำให้ประเทศก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งไปรษณีย์ขลุงเป็นจุดติดตั้งจุดที่ 71 ของประเทศ โดยในปี 2561 กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายการติดตั้งระบบ POS นี้ จำนวน 10,000 แห่งทั่วประเทศ
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการ ที่เป็นรูปธรรมของการจัดทำระบบ E-Commerce ชุมชน ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ริเริ่ม โดยใช้กลไกของไปรษณีย์ไทยเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ร่วมกับสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 20,000 แห่ง และจะมีเพิ่มอีก 20,000 แห่ง ทั่วประเทศ โดยร้านค้าดังกล่าวสามารถนำแพลตฟอร์มนี้ ผลักดันไปสู่ E-Commerce ชุมชนในอนาคต สามารถทำร้านค้า โชห่วยไฮบริดให้เกิดขึ้นจริง
ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถทำให้สินค้าวิสาหกิจชุมชนมีตราสัญลักษณ์ที่ได้รับมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยเป็นการเปิดโอกาสการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต และระหว่างผู้ผลิตกับผู้ผลิต หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การตอบคำถามให้กับผู้บริโภค การออกแบบหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค สร้างมาตรฐานให้กับตัวสินค้า ส่งผลให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า มีความปลอดภัยในการใช้สินค้า และมาตรฐานที่เรียกว่า "มอก. S" ซึ่งถือเป็นความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน