“ชูเด่น” คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น รักษาฟัน “ฟรี”
โครงการ "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" นอกจากประชาชนจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองไปรับบริการในโรงพยาบาลรัฐที่ไหนก็ได้ใน 12 จังหวัดนำร่องแล้ว ยังสามารถไปใช้บริการในคลินิกเอกชนต่างๆ ที่เข้าร่วมให้บริการได้ “ฟรี” 7 ประเภท คือ 1.ร้านยา 2.คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 3.คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 4.คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 5.คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 6.คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และ 7.คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการด้านทันตกรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองชื่นชอบมากที่สุด โดยในช่วงนำร่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เฟสที่ 1-2 มีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมให้บริการ จำนวน 106 แห่ง มีการให้บริการประชาชนไปแล้วประมาณ 10,000 คน คิดเป็นจำนวนการรับบริการกว่า 15,000 ครั้ง หรือเฉลี่ย ประชาชน 1 คนมารับบริการ 1.5 ครั้ง
" ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมได้ฟรี 5 รายการ ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน และการเคลือบฟลูออไรด์ โดย สปสช.ให้สิทธิในการรับบริการ 3 ครั้ง/ปี หากใช้สิทธิรับบริการครบ 3 ครั้งแล้ว และยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ ก็ยังสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการประจำของตนเองได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม”
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งไม่ใช่แค่ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่จะดูแลประเมินความเสี่ยงของสุขภาพช่องปากของผู้รับบริการและวางแผนการรักษาทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำหัตถการที่จำเป็น ตามสิทธิที่ สปสช. ฟรีไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี แต่หากยังมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าสามารถจ่ายเองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกได้เลย ซึ่งคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศมีประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออก จะเหลือ 4,000 กว่าแห่ง ทันตแพทยสภาตั้งเป้าว่าในจำนวนนี้ จะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมโครงการประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง
ทางด้าน ด้านคลินิกทันตกรรมเอกชนซึ่งเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับ สปสช. ระบุว่า เหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วม เพราะเล็งเห็นประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยประชาชนจะได้เข้าถึงบริการปฐมภูมิด้านทันตกรรมมากขึ้น เพราะสะดวกและอยู่ใกล้บ้าน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐเอง ก็จะมีเวลาไปดูแลงานเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่วนคลินิกทันตกรรมเองก็จะได้รับเงินชดเชยค่าบริการในอัตราที่เหมาะสม และเป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งมีผู้ไปใช้บริการมากขึ้น
ทพ.อดิเรก วัฒนา ผู้ก่อตั้งคลินิกทันตกรรม ทันตแพทย์อดิเรก จ.แพร่ กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. ก็ได้เพิ่มจำนวนทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ เพื่อรองรับจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อการให้บริการที่พึงพอใจแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองและผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองทุกคน ซึ่งหลังจากที่เริ่มให้บริการแล้ว พบว่าประชาชนให้การตอบรับดีมาก จากจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น และความพึงพอใจของผู้รับบริการ หลายคนเมื่อสามารถนำสิทธิบัตรทองไปใช้ได้ เขารู้สึกประหลาดใจและดีใจมาก
ทพ.โปรัตน์ อยู่ไทย คลินิกทันตกรรมโปรัตน์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ มีประชาชนมารับบริการที่คลินิกเพิ่มขึ้น 20% ส่วนตัวแล้วรู้สึกพึงพอใจค่อนข้างมาก ที่ได้ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสะดวกขึ้น ที่สำคัญคือ ในจำนวนผู้มารับบริการนี้ มีผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองที่ไม่เคยไปรับบริการทันตกรรมที่ไหนมาก่อนเลย มาเข้ารับบริการด้วย สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไม่มีนโยบายในลักษณะนี้ จะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่ได้บริการทันตกรรมเลยตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่สุขภาพช่องปาก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง
ด้าน ทพ.นฤชิต ทองรุ่งเรืองชัย เจ้าของคลินิกโนนสังทันตกรรม อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการ"30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ทำให้ประชาชนรู้จักคลินิกของตนมากขึ้น และมีผู้มารับบริการมากขึ้นด้วย ถ้าเป็นการรักษาขั้นพื้นฐานก็สามารถให้บริการได้เลย แต่ถ้าเป็นการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน ทางคลินิกก็จะแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล จึงอยากจะฝากไปถึงเพื่อนๆ ทันตแพทย์ว่า การสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ อาจมีหลายขั้นตอน แต่ถ้าผ่านแล้ว กระบวนการเบิกจ่ายเป็นไปตามที่ สปสช. สัญญาไว้ และการใช้งานโปรแกรมต่างๆ ก็ไม่ยุ่งยาก จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ให้มาร่วมโครงการนี้ด้วย