โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ได้สั่งการผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร็นท์ ไปยังสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ 11 แห่ง 8 ประเทศ โดยนายกฤษฎา กล่าวว่า ทูตเกษตร ต้องปรับบาทใหม่ เป็นมืออาชีพ รู้สถานการณ์สินค้าเกษตร จะช่วยดูแลเกษตรกรไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ โดยเฉพาะเรื่องยางพารา พบว่า ได้รับผลกระจากต่างประเทศ ที่มีบางบริษัทไม่มียางในมือสักกิโลเดียว แต่สามารถขายล่วงหน้าได้เป็นแสนๆตัน ยังมีคนซื้อต่อไปทำกำไรหลายทอด ขอให้ทูตเกษตร ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปักกิ่ง เชียงไฮ้ ประเทศจีน และสิงค์โปร์ ที่มีการซื้อยางล่วงหน้า ให้ไปหาเวลาเดินดูตลาดแล้วไปทำรายงานมาทั้งหมดส่งมาตนโดยตรง
“ผมย้ำไปเดินตลาดบ่อยๆ แล้ว ศึกษามาทั้งหมด มีบริษัท ยาง ไปวางออร์เดอร์ ได้เป็นแสน กก. คนมาซื้อต่อ ส่งมีผลต่อราคายางบ้านเรา ผมไม่เข้าใจว่า จะตรงกับที่ได้รู้มาหรือไม่ หรือไป เปิดอินเทอร์เน็ต ดูว่า มีบริษัท พ่อค้ายาง 5 เสือไปตั้ง บริษัทลูกซื้อขายยาง ที่ตลาด เชียงไฮ้ โตคอม ซื้อขายผ่านกระดาษ ผมกำลังศึกษาว่า จะทำอย่างไรไม่มากดราคายางบ้านเรา ผมมั่นใจ ทูตเกษตรฯ ถ้าทำงานทุ่มเท ทำจริง จะเป็นมิติใหม่สินค้าเกษตรไทยมีอนาคต ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรัฐมนตรี มาพูดแบบนี้ ผมยืนยันจะไม่ให้เหนื่อยฟรี เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า ไม่ทำอะไรอยู่ต่างประเทศก็รับแขกบ้านแขกเมือง ถามว่า ทำอะไรบ้าง แทบตอบไม่ได้ กับเกษตรจังหวัดยะลา ปลัด นายอำเภอ ทหาร อยู่ชายแดนใต้ เสี่ยงเหยียบกับระเบิด เทียบกันแทบไม่ได้”นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีคนมาให้ข้อมูลตนว่า ประเทศไทยผลิตยางปีละ 4.4 ล้านตัน คนทั้งโลกใช้ยาง 14 ล้านตัน และโลกนี้ไม่ต้องการยางเพิ่ม แต่มีประเทศผลิตเพิ่ม ต่อมาตนไปศึกษาพบว่า ประเทศผลิตยางไม่มากมาย แต่ที่ประสบปัญหาราคายาง เพราะอ้างอิง ราคาการซื้อขายต่างประเทศ เชียงไฮ้ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และเป็นการซื้อขายล่วงหน้า มีการเก็งกำไร เหมือนตลาดหุ้น มีการปล่อยข่าวเท็จ หลังจากที่ไทยตกลงกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลดส่งออก 3 ประเทศ 3.5 แสนตัน
"ใน 3 เดือน กลับมีข่าวลือ ไปที่ตลาดต่างประเทศว่า ไม่ได้ลดจริง มีการเบี้ยวกัน จึงขอทูตเกษตรฯ ไปชี้แจงอย่างละเอียดให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นรัฐบาลไทย โดยอยากเห็นทูตเกษตรฯ ทำหน้าที่เป็นโฆษกกระทรวงเกษตรฯ ในต่างประเทศและทำวิเคาระห์สถานการณ์สินค้าเกษตรไทยที่ตลาดต่างประเทศสำคัญๆ ต้องการมาทุกเดือน" รมว.เกษตรฯ กล่าว
นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้ทำการประชุมหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางความร่วมมือของสองฝ่ายในการสนับสนุนการใช้ไม้เศรษฐกิจในประเทศว่า ประเทศไทยมีการใช้ยางพารา 4 แสนไร่ต่อปี แต่ได้รับรองเป็นไม้เศรษฐกิจจาก FSC เพียง 1.9 แสนไร่ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับรองไม้เศรษฐกิจที่ส่งออกขายต่างประเทศ จึงเข้ามาช่วยเร่งการรับรองยางพาราให้เป็นไม้เศรษฐกิจตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หรือ FSC ให้เป็นไม้ที่ถูกต้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณกลางปี 2561 ในการสนับสนุนการใช้ยางพาราแปรรูปในหน่วยงานราชการ อาทิ พื้นยางโรงเรียน พื้นถนน พื้นเอนกประสงค์หรือลานกีฬา เพื่อให้มีการใช้ยางแปรรูปมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขให้ใช้ยางพาราตามข้อแนะนำของสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นเงื่อนไขหนึ่ง
“เพื่อให้การทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับภาคเอกชน มีความคล่องตัวและใกล้ชิดกันมากขึ้น จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรม รวมทั้งหอการค้า เพื่อนำสินค้าแต่ละชนิดมาหารือร่วมกัน ซึ่งสภาอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเข้ามาช่วยดูตั้งแต่ต้นทางการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ต้องการ เช่น กล้วยหอมที่เคยส่งออกไปยังญี่ปุ่น 8 แสนตัน แต่เมื่อคัดตามมาตรฐานแล้ว ญี่ปุ่นซื้อไปเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งครั้งนี้จะเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้นทาง โดยจะเริ่มในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ตาก ลำปาง และเชียงใหม่” นายกฤษฎากล่าว